สงครามโลกเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่า 100 ปีแล้ว แต่ก็ยังถูกนำมาพูดถึงเสมอ โดยเฉพาะในรูปแบบภาพยนตร์ที่สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามโลกออกมาแทบทุกปี เล่าผ่านมุมมองจากหลาย ๆ ฝ่าย แม้เป็นเหตุการณ์ใหญ่ระดับโลก แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอย่างเรา
ไอติมเล่า ep นี้ จะมาเรียบเรียงโดยสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เนื้อหาผมสรุปมาจากหนังสือชุด "ประวัติศาสตร์โหด มัน ฮา" หนังสือที่เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของสงครามโลก เนื้อหาอ่านง่าย มีภาพการ์ตูนประกอบทั้งเล่ม เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกแบบผมครับ
จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1
สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นในปี 1914 สาเหตุหลักคือความตึงเครียดระหว่างประเทศในยุโรปที่สะสมมานาน ทั้งการแย่งชิงดินแดน การแข่งขันทางเศรษฐกิจ การขยายอาณานิคม และการแข่งขันด้านกองทัพ โดยประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers) นำโดยเยอรมนี, ออสเตรีย-ฮังการี และออตโตมัน และฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies Power) นำโดยอังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และต่อมาสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วย
ชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้สงครามปะทุ คือการลอบสังหารมกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งคือ อาร์ชดยุกฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ โดยผู้ลงมือคือกลุ่มชาวเซอร์เบียชาตินิยมที่ชื่อว่า กลุ่มแบล็กแฮนด์ เหตุการณ์ลอบสังหารเกิดในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 เหตุการณ์นี้ทำให้ออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามกับเซอร์เบีย และพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายก็เริ่มเข้าร่วม ทำให้สงครามลุกลามไปทั่วทวีป ซึ่งในตอนนั้นคาดการณ์กันว่าสงครามจะจบลงภายใน 4 เดือน แต่เอาเข้าจริงกลับยืดเยื้อกินเวลาไปนานถึง 4 ปี
ในช่วงสงคราม ทั้งสองฝ่ายได้ปั้นแต่งเรื่องให้อีกฝ่ายเป็นผู้ร้าย ผู้คนถูกปลูกฝังให้เกลียดชังฝ่ายตรงข้าม อย่างในเยอรมัน เวลาที่ผู้คนเจอกันก็ไม่กล่าวทักทายกันว่าอรุณสวัสดิ์อีกต่อไป แต่เปลี่ยนมาทักทายกันด้วยประโยคว่า "ขอพระเจ้าลงโทษอังกฤษ" แทน ขณะเดียวกันในประเทศอังกฤษได้สั่งแบนเพลงที่แต่งโดยชาวเยอรมัน และเชื่อกันว่าพ่อค้าชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในอังกฤษขายอาหารเจือยาพิษ เชื่อว่าช่างตัดผมชาวเยอรมันตัดคอลูกค้าแล้วเอาศพไปทิ้ง
สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามแรกที่มีการใช้เครื่องบินในการรบ โดยการขับเครื่องบินขึ้นไปถ่ายภาพฐานที่ตั้งของศัตรูหรือทิ้งระเบิดใส่ ในขณะที่อีกฝ่ายก็จะนำเครื่องบินขึ้นมายิงขับไล่ การรบด้วยเครื่องบินแบบนี้ ทำให้ประชาชนที่อยู่แนวหลังไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เพราะมีคนบริสุทธิ์โดนลูกหลงจากบินกลที่ยิงมาจากเครื่องบินรบ
เมื่อเข้าสู่ปี 1915 ที่สงครามยืดเยื้อมาเกิน 4 เดือน การรบก็เปลี่ยนมาเป็นการปักหลักรบอยู่กับที่ในสนามเพลาะ สมรภูมินี้รู้จักกันในชื่อแนวรบด้านตะวันตก (Western Front) ทางฝั่งประชาชนก็เกิดการหวาดระแวงคนต่างชาติ เพราะกลัวว่าอาจเป็นสายลับที่ฝ่ายศัตรูส่งมาแฝงตัวสอดแนม
สภาพของสนามเพลาะในตอนนั้นเต็มไปด้วยซากศพที่ไม่ได้ฝังกลบของทหารและสัตว์อย่างม้าหรือลา เมื่อศพเหล่านี้เน่าเปื่อยก็กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและโรคระบาดต่าง ๆ มีทหารอังกฤษนายหนึ่งเคยบ่นถึงสถานการณ์ในตอนนั้นว่า
ถ้าจะกินอาหาร คุณต้องโบกมือเหนืออาหารนั้นก่อน แล้วรีบกัดกินทันที ไม่เช่นนั้นแมลงวันจะเข้ามาตอมเต็มไปหมด เศษอาหารที่ไม่มีอะไรปิดไว้จะถูกพวกแมลงรุมตอมจนมองไม่เห็นภายใน 2 วินาที
เมื่อสงครามยังคงยืดเยื้อ ใบสั่งเกณฑ์ทหารได้ถูกส่งไปทั่วอังกฤษ เพื่อเรียกชายโสดทุกคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมาเป็นทหาร และถูกส่งไปรบในสมรภูมิที่ชื่อว่า "ยุทธการที่แม่น้ำซอม" ซึ่งอยู่ทางเหนือของฝรั่งเศส การรบในครั้งนี้ตั้งใจให้เป็นการรบที่จะยุติสงครามตลอดไป แต่กลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายสูญเสียทหารไปทั้งสิ้น 1.3 ล้านชีวิต ส่วนคนที่รอดมาได้ก็ยังต้องร่วมรบในสงครามต่อไปอยู่ดี
ความหิวโหยช่วงสงคราม
ในช่วงนั้นเยอรมันสามารถผลิตอาหารภายในประเทศได้เพียง 80% และนำเข้าในส่วนของ 20% ที่เหลือ กองทัพเรืออังกฤษจึงได้ปิดล้อมประเทศเยอรมนี ช่วงแรกชาวเยอรมันหัวเราะเยาะการปิดล้อมของอังกฤษ แต่พอผ่านจนมาถึงช่วงปลายของสงครามชาวเยอรมันก็หัวเราะไม่ออกอีกแล้วเพราะขาดแคลนอาหาร ช่วงนั้นอาหารหลักของชาวเยอรมันคือหัวผักกาด เนื้อขาดแคลนจนต้องมากินเนื้อม้าหรือเนื้อหมา แม้แต่จิงโจ้ที่สวนสัตว์เยอรมนีก็ยังถูกฆ่าเอามากิน
เมื่ออาหารขาดแคลน คนเยอรมันจำเป็นต้องกินอาหารเทียมที่เรียกว่า อาหารแอร์ซัทซ์ (ersatz) ตัวอย่างของอาหารเทียม เช่น ขนมปังที่ใช้แป้งจากถั่วทำ และบ่อยครั้งมีการเติมขี้เลื่อยลงไปด้วยเพื่อเพิ่มบริมาณ, เนื้อที่ทำจากผักโขม มันฝรั่ง ถั่วลิงสง และไข่เทียม ซึ่งไข่เทียมก็ทำจากข้าวโพดผสมมันฝรั่ง แม้กระทั่งพริกไทยก็ถูกเติมขี้เถ้าลงไปเพื่อเพิ่มปริมาณ
ความหิวโหยนี้เองที่ทำให้ผู้คนหมดแรงใจที่จะสู้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศเยอรมนีแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และชาวเยอรมันเจ็บปวดใจกับการแพ้ในครั้งนี้มาก
บทลงโทษในสนามรบ
กองทหารมีกฏมีระเบียบที่ทหารจะต้องปฏิบัติตาม ทหารนายไหนที่ฝ่าฝืนกฏหรือสร้างความวุ่นวายในกองก็จะถูกลงโทษ บทลงโทษมีตั้งแต่สถานเบา อย่างเช่นฝ่ายเยอรมันมีการลงโทษทหารที่สร้างปัญหาด้วยการให้ขัดพื้นห้องพักด้วยแปรงสีฟัน หรือให้กวาดหิมะออกจากออกจากสนามฝึกด้วยแปรงขนาดเล็กและที่ตักผง
ถ้าทหารหนีการรบ ทหารนายนั้นจะต้องขึ้นศาลทหาร ตัวอย่างคดีในช่วงนั้น เช่น คดีของพลทหารปีเตอร์ แอลเลน ที่ในเดือนมิถุนายน ปี 1915 กรมทหารที่เขาสังกัดถูกสั่งให้บุกไปยัง เบลเลวาร์ด ริดจ์ (Bellwarde Ridge) ในฝรั่งเศสซึ่งมีทหารเยอรมันป้องกันอยู่เข้มแข็ง พลทหารปีเตอร์ไม่อยากร่วมรบในครั้งนี้ จึงชักปืนไรเฟิลออกมายิงขาตัวเอง เขาถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และถูกตัดสินจำคุก 2 ปี พร้อมถูกใช้แรงงานหนัก
สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1
เข้าสู่ปี 1918 สงครามดำเนินเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว แต่ละฝ่ายต่างก็เหนื่อยล้า ฝ่ายเยอรมันจึงตัดสินใจรวบรวมกำลังพลเพื่อทำการบุกครั้งใหญ่ก่อนที่จะอดตาย ฝ่ายสัมพันธมิตรถูกตีจนถอยร่นไปเรื่อย ๆ จนดูเหมือนฝ่ายเยอรมันจะชนะ แต่ฝ่ายเยอรมันบุกตีคืบหน้าเร็วเกินไป จนเสบียงอาหารส่งตามไปไม่ทัน แล้วฝ่ายสัมพันธมิตรก็หยุดล่าถอยที่แม่น้ำมารืน และเป็นฝ่ายตีบุกกลับไปบ้าง จนบุกไปถึงประเทศเยอรมนี
บัลเกเรียที่อยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมันถอนตัวจากสงคราม และหันมาเรียกร้องสันติภาพ ฝ่ายเยอรมันต้านกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ไหวจึงขอเจรจาสงบศึก จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาสงบศึกบนรถไฟ ณ เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11 นาฬิกา 11 นาที ของปี 1918 ในสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้ มีคนกว่า 65 ล้านคนที่ต้องเข้าร่วมต่อสู้ในสงคราม มีทหารมากกว่า 8.5 ล้านนาย และพลเรือนกว่า 6.6 ล้านคนต้องเสียชีวิตเพราะสงคราม
หลังจากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน ปี 1919 ที่พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนีถูกบังคับให้เซ็นสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งในสนธิสัญญากำหนดให้เยอรมนีต้องรับผิดในฐานะผู้ก่อสงครามแต่เพียงผู้เดียว ถูกแบ่งแยกดินแดนและยกให้ประเทศอื่น กองทัพเยอรมนีถูกลดขนาด ห้ามมีกองทัพอากาศ ห้ามผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์หนัก และต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการทำสงครามเป็นจำนวนเงินมหาศาล ซึ่งสนธิสัญญาแวร์ซายนี้สร้างความอับอายและความโกรธแค้นให้กับประชาชนเยอรมันเป็นอย่างมาก
ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
เยอรมนีในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องเผชิญกับระบบเศรษฐกิจที่พังทลาย เพราะการจ่ายค่าชดใช้สงครามทำให้เยอรมนีประสบปัญหาเงินเฟ้อแบบสุดขั้ว (Hyperinflation) ที่ทำให้ค่าเงินมาร์คเยอรมนีลดค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินค้าราคาสูงขึ้นมาก คนเยอรมันต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อสิ่งของพื้นฐานในการดำรงชีวิต
และสงครามนำไปสู่การสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในเยอรมนี จักรวรรดิเยอรมันล่มสลาย ประเทศเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่เรียกว่า "สาธารณรัฐไวมาร์" ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลภายใต้ระบอบใหม่ต้องเจอกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ, ด้านการเมือง และความไม่พอใจของประชาชนที่เห็นว่ารัฐบาลไวมาร์อ่อนแอ เพราะยอมรับเงื่อนไขสนธิสัญญาแวร์ซาย
ก่อนไปพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาดูกันหน่อยครับว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ทิ้งอะไรที่เป็นประโยชน์เอาไว้บ้าง หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการก่อตั้งองค์กรสันนิบาตชาติ (League of Nations) ขึ้นในปี 1920 เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศ แม้ว่าองค์กรนี้จะไม่สามารถป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ แต่ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างเวทีระหว่างประเทศเพื่อเจรจาความขัดแย้ง
สงครามครั้งนี้เป็นตัวเร่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ มีการพัฒนาวิธีการรักษาบาดแผล, การพัฒนาการใช้ยาปฏิชีวนะ และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผ่าตัด นอกจากนี้ยุคหลังสงครามเป็นยุคที่สิทธิสตรีเพิ่มมากขึ้น เพราะช่วงที่ผู้ชายไปรบ ผู้หญิงก็มาทำงานโรงงานแทนในช่วงสงคราม ซึ่งนำไปสู่การขยายสิทธิสตรี ให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกตั้ง
จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนหน้านี้เราทราบกันแล้วว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงแบบสร้างความอับอายให้แก่คนเยอรมันมาก พรรคนาซีได้ใช้ประโยชน์จากความคับแค้นใจของคนในชาติ จนได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งมีความคิดชาตินิยมสุดขั้ว ต้องการฟื้นฟูศักดิ์ศรีของประเทศหลังจากสงครามครั้งก่อนและอยากขยายอำนาจไปทั่วโลก สงครามครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรใหม่ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก เช่น สหรัฐอเมริกา, สหภาพโซเวียต และอังกฤษ ต่อสู้กับฝ่ายอักษะที่มีเยอรมนี, อิตาลี และญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นในวันที่ 3 กันยายน 1939
ครั้งนี้จะเห็นว่าประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามด้วย จริง ๆ แล้วช่วงทศวรรษที่ 1930 ญี่ปุ่นทำการรุกรานประเทศใกล้เคียงเพราะต้องการขยายอาณาจักรของตนให้กลายเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในปี 1931 ญี่ปุ่นได้บุกยึดแมนจูเรียซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศจีน และบุกยึดจีนมากขึ้น จนในปี 1937 ก็เกิดสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับจีน และในปี 1940 ญี่ปุ่นลงนามใน ข้อตกลงไตรภาคี (Tripartite Pact) กับเยอรมนีและอิตาลี นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับฝ่ายอักษะ ภายใต้ข้อตกลงนี้ ญี่ปุ่นจะได้ครองภูมิภาคแปซิฟิก ส่วนเยอรมนีและอิตาลีจะได้ครองยุโรป
สงครามโลกครั้งที่ 2 แตกต่างจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ตรงที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย เพราะมีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ที่มีพลังทำลายล้างเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะหลบอยู่ตรงไหนก็ไม่รอด นอกจากนี้สงครามครั้งนี้กระจายไปทั่วทุกมุมโลกจริง ๆ หลายประเทศในเอเชียถูกญี่ปุ่นยึดครอง เช่น ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และพม่า อย่างประเทศไทยของเราก็ถูกญี่ปุ่นใช้เป็นฐานทัพและเส้นทางในการขนส่งกำลังพลไปบุกประเทศอื่น
ไม่มีที่ให้ศีลธรรมในสงคราม
ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์โหด มัน ฮา: สงครามโลกครั้งที่สองสยองขวัญ" ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงมาให้ลองจินตนาการดูว่าถ้าเป็นคุณจะแก้ไขสถานการณ์นี้ยังไง
คุณเป็นทหารอังกฤษนายหนึ่งซึ่งปฏิบัติการอยู่ในประเทศพม่า กำลังเดินทะลุผ่านป่าไปหาญี่ปุ่นซึ่งเป็นข้าศึก หน่วยลาดตระเวนของคุณจับชาวบ้านพม่าผู้ใหญ่ได้ 3 คน และเด็กอายุ 10 ขวบ 1 คน ดูแล้วแทบจะมั่นใจได้เลยว่าชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นสายสืบให้ฝ่ายญี่ปุ่น ถ้าคุณปล่อยคนกลุ่มนี้ไป พวกเขาจะไปรายงานตำแหน่งของคุณให้ทหารญี่ปุ่นรู้ ชีวิตของคุณและเพื่อนทหารจะต้องตกอยู่ในอันตราย ถ้าคุณเป็นทหารอังกฤษที่อยู่ในเหตุการณ์และได้รับคำสั่งให้ยิงเป้าชาวบ้านที่จับได้ คุณจะเลือกทำอะไรจาก 3 ตัวเลือกนี้
- ไม่รับคำสั่ง ให้ทหารนายอื่นทำหน้าที่นี้แทน
- ยิงผู้ใหญ่และขอให้ไว้ชีวิตเด็ก
- รับคำสั่ง โดยการยิงชาวบ้านทั้งหมด
ในสถานการณ์จริงคุณไม่มีโอกาสเลือกเลยครับ เพราะถ้าคุณไม่ยอมทำตามคำสั่ง ผู้บัญชาการก็จะสั่งยิงคุณโทษฐานขัดคำสั่ง และชาวบ้านที่ถูกจับก็ไม่รอดชีวิตอยู่ดี ถ้าเลือกขอให้ไว้ชีวิตเด็กแล้วปล่อยไป ก็ไม่แน่ว่าอาจโดนเด็กหักหลัง โดยการไปบอกทหารญี่ปุ่น หนทางเดียวที่ทหารอังกฤษผู้ได้รับคำสั่งคนนั้นต้องทำคือ ยิงผู้ใหญ่ทั้ง 3 คนและเด็ก เหตุการณ์นั้นกลายเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนทหารนายนั้นมาตลอด 50 ปี เขายังจำประสบการณ์วันนั้นได้แจ่มชัด โดยได้เล่าให้ฟังว่า
เด็กชายผู้นั้นหันหน้ามาทางพวกเราโดยไม่มีผ้าปิดตา เนื่องจากเด็กชายเป็นคนที่ 2 ซึ่งจะถูกยิงเป้า ก็แปลว่าเขาจะต้องได้เห็นคนอื่นถูกยิงก่อน เมื่อถึงคราวของเขา เด็กชายก็หวาดกลัวเอามาก ๆ การยิงด้วยปืนไรเฟิลในระยะใกล้อย่างนั้น ทำให้สภาพศพเละเทะเอาการ ผมไม่เคยลืมเรื่องนี้ลงได้เลย
การสังหารหมู่ชาวยิว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นับว่าโหดเหี้ยมที่สุดที่มนุษย์จะทำกับมนุษย์ด้วยกันคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว สาเหตุที่เหยื่อของเรื่องนี้เป็นชาวยิว เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบ และเยอรมนีตกอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ชาวเยอรมันตำหนิว่าชาวยิวเป็นต้นเหตุของทุกปัญหา
ฮิตเลอร์ ผู้นำของเยอรมันในขณะนั้น ใช้แนวคิดเพื่อปลุกระดมคนในชาติว่าชาวเยอรมันคือชาวอารยันซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่สูงส่ง และชาวยิวเป็นเผ่าพันธุ์ที่ตำ่ต้อย เป็นตัวการที่จะทำลายล้างชาวเยอรมัน ชาวยิวคือศัตรู เราต้องกำจัดศัตรูให้สิ้นซาก
นาชีได้ทดลองจับชาวยิวใส่เข้าไปในรถตู้ที่ปิดผนึกสนิท แล้วปล่อยไอเสียจากเครื่องยนต์เข้าไป วิธีนี้ใช้เวลา 8 นาทีกว่านักโทษจะตาย ซึ่งนาซีเห็นว่าช้าเกินไป จนในที่สุดนาซีก็คิดแผนการใช้แก๊สพิษขึ้นมา จากนั้นได้ตั้งค่ายกักกันและค่ายสังหารขึ้นมามากกว่า 40,000 แห่งทั่วยุโรป
ตัวอย่างค่ายที่มีชื่อเสียงเช่น เทรบลิงคา (Treblinka) ค่ายสังหารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแถบชนบทของประเทศโปแลนด์ ซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี ที่นี่มีคนตายประมาณ 1 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 13 เดือน เหยื่อทั้งหมดถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันเพียง 50 คนกับพันธมิตรชาวยูเครนอีกเพียง 150 คน นอกจากค่ายสังหารที่นำชาวยิวไปฆ่าแล้ว ยังมีค่ายทดลองทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับทดลองทางการแพทย์ที่ทารุณ เช่น ค่ายเอาชวิทซ์ ซึ่งนำชาวยิวและเชลยศึกมาทดลองโดยไม่คำนึงถึงชีวิตและความเจ็บปวด
สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นวันที่ 1 กันยายน ปี 1939 และสิ้นสุดวันที่ 2 กันยายน ปี 1945 กินเวลาถึง 6 ปี กับอีก 1 วัน โดยสาเหตุของการสิ้นสุดสงครามคือเยอรมนีถูกกองทัพสัมพันธมิตรปิดล้อม โดยสหภาพโซเวียตบุกมาจากด้านตะวันออก และสหรัฐอเมริกากับอังกฤษบุกมาจากด้านตะวันตก กรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีถูกยึด ฮิตเลอร์ไม่อยากตายด้วยน้ำมือของฝ่ายศัตรู จึงชิงยิงตัวเองตาย โดยได้สั่งเจ้าหน้าที่ไว้ก่อนว่าให้จัดการเผาศพของเขา เพื่อไม่ให้ศัตรูเอาไปแห่ประจาน
ฝั่งยุโรปสิ้นสุดสงครามแล้ว แต่ญี่ปุ่นยังสู้ต่อแม้จะเสียเปรียบมากก็ตาม จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม 1945 สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ชื่อ Little Boy ลงเมืองฮิโรชิมะ แรงระเบิดของ Little Boy เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีประมาณ 15 กิโลตัน ทำให้เมืองถูกทำลายอย่างรุนแรงภายในรัศมี 2 กิโลเมตรจากจุดระเบิด มีคนประมาณ 70,000–80,000 คนเสียชีวิตในทันที
จากนั้นอีก 3 วันต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์อีกลูกชื่อว่า Fat Man ลงที่เมืองนางาซากิ แรงระเบิดของ Fat Man เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีประมาณ 21 กิโลตัน ซึ่งมากกว่าลูกที่แล้ว แต่เนื่องจากเมืองนางาซากิตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขา ทำให้การระเบิดไม่สามารถแพร่ได้กว้างเท่าที่ฮิโรชิมะ แต่ก็ยังมีผลกระทบอย่างรุนแรงในรัศมี 1.6 กิโลเมตรจากจุดระเบิด ทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม และลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกลุ่มสัมพันธมิตร เป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ
ความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามที่สร้างความเสียหายและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดคาดว่าอยู่ระหว่าง 70-85 ล้านคน หรือประมาณ 3-4% ของประชากรโลกในขณะนั้น สาเหตุของการเสียชีวิตมีทั้งจากการสู้รบโดยตรง, โดนลูกหลง, ความหิวโหย, โรคภัย และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
โดยมีทหารจากทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตประมาณ 21-25 ล้านคน ทหารจากสหภาพโซเวียตเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งสูญเสียทหารไปมากกว่า 8.7 ล้านคน ตามมาด้วยเยอรมนีที่สูญเสียทหารประมาณ 5 ล้านคน
ผลจากการสู้รบทำให้ประชาชนคนธรรมดาพลอยเสียชีวิตไปด้วย ซึ่งมีจำนวนประมาณ 50-55 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ รวมทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตทันทีและได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นทั้งสองครั้งประมาณ 200,000 คน นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากเสียชีวิตเพราะอดอยาก เช่น ประเทศจีนมีผู้เสียชีวิตจากความอดอยากประมาณ 15-20 ล้านคน
การเปลี่ยนแปลงหลังสงครามจบ
แม้สงครามโลกทั้งสองครั้งจะนำมาซึ่งความสูญเสียและความทุกข์ยากอย่างมาก แต่ก็ทิ้งมรดกและการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์ต่อโลกในบางด้าน เช่น การก่อตั้งสหประชาชาติ (United Nations) ขึ้นในปี 1945 เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศและการส่งเสริมสันติภาพ องค์กรนี้มีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงของโลกและป้องกันความขัดแย้งใหญ่ ๆ ในระดับนานาชาติ
มีการพัฒนาเทคโนโลยีหลายด้านระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น นิวเคลียร์, เครื่องบินเจ็ท, จรวด และคอมพิวเตอร์ การพัฒนาเหล่านี้นำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสำหรับมนุษยชาติหลังสงครามจบลง
เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิทธิมนุษยชน ความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หลังสงครามจบ สหประชาชาติได้ประกาศ "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ในปี 1948 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และหลังสงครามจบลง หลายประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ เช่น ประเทศอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยอาณานิคมทั่วโลก
สงครามโลกอาจจบลงแล้ว แต่บาดแผลที่ทิ้งไว้ในใจของผู้คน และร่องรอยที่ปรากฏบนแผ่นดินจะอยู่กับเราตลอดไป เป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่มีชัยชนะใดที่คุ้มค่ากับการสูญเสียชีวิตและความเป็นมนุษย์ หากเราไม่เรียนรู้จากอดีต มันอาจกลับมาซ้ำรอยในอนาคต และนั่นเป็นราคาที่เราทุกคนไม่ควรต้องจ่ายอีกต่อไป