ร่างกายไม่เคยโกหก คู่มืออ่านคนฉบับเอฟบีไอ

ร่างกายไม่เคยโกหก คู่มืออ่านคนฉบับเอฟบีไอ

ไอติมอ่าน ep นี้จะชวนเพื่อน ๆ มาฝึกอ่านใจคนจากภาษากายที่ถ่ายทอดออกมาทางร่างกายกันครับ เนื้อหาใน ep นี้ ผมสรุปมาจากหนังสือ "ร่างกายไม่เคยโกหก คู่มืออ่านคนฉบับเอฟบีไอ" เขียนโดย โจ นาวาร์โร อดีตนักสืบของสำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกาหรือเอฟบีไอ ผู้มีประสบการณ์การทำงานหน้าที่นี้มากว่า 25 ปี

ตลอดชีวิตการทำงาน เขาได้ศึกษา ปรับปรุง และนำไปใช้ จนได้เป็นศาสตร์แห่งการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ซึ่งอาศัยการอ่านสีหน้า อากัปกิริยา และการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อวิเคราะห์ว่าคนคนนั้นกำลังคิดอะไร สิ่งที่เขาพูดมาเป็นความจริงหรือไม่

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำอาชีพนักสืบแบบโจ แต่สามารถเอาความรู้จากเขาไปปรับใช้ เพื่อทำเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนรอบตัวเรา เพื่อให้สื่อสารกับพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องการงานครับ

เราอาจเคยถูกสอนมาว่าไม่ควรตัดสินคนจากภายยนอก แต่จริง ๆ แล้วสีหน้า ท่าทาง และพฤติกรรมทุกอย่างที่ร่างกายแสดงออกล้วนสั่งการมาจากสมอง โดยสมองของมนุษย์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ สเต็มเบรน (stem brain) หรือก้านสมอง ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกายที่เป็นระบบอัตโนมัติ เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจ, ลิมบิกเบรน (limbic brain) เป็นสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ สัญชาตญาณและความรู้สึก, นีโอคอร์เท็กซ์เบรน (neocortex brain) เป็นสมองส่วนที่ใช้สำหรับคิดและตัดสินใจ สมองส่วนนี้ทำให้มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์อื่น ๆ ครับ

ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงเฉพาะลิมบิกเบรน เพราะเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการแสดงออกทางภาษากาย สมองส่วนลิมบิกตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวแบบฉับพลัน โดยปราศจากการคิดและไตร่ตรอง แสดงออกมาตามสัญชาตญาณ ทำให้พฤติกรรมของเราแสดงออกมาสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้น เมื่อปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านกระบวนการคิด ทำให้ยากที่จะปกปิด ดังนั้นภาษากายเหล่านี้จึงมีความซื่อตรงและน่าเชื่อถือมากกว่าคำพูดนั่นเองครับ


ผมขอพูดถึงพฤติกรรมหลีกเลี่ยงเป็นอันดับแรกนะครับ เพื่อน ๆ ลองนึกย้อนกลับไป อาจพบว่าตัวเองเคยเป็น หรือเคยเห็นคนอื่นแสดงพฤติกรรมหลีกเลี่ยง พฤติกรรมนี้บ่งบอกว่าใครคนนั้นต้องการอยู่ให้ห่างจากคนที่เขามองว่าเป็นภัยคุกคาม ซึ่งคนเราจะแสดงพฤติกรรมหลีกเลี่ยงโดยการเอนตัวหนี เอนตัวออกห่างจากคนที่เรามองว่าไม่น่าคบ หรือคนที่มีความเห็นขัดแย้งกับเรา รวมถึงการเอาของมาวางไว้บนตัก เช่น กระเป๋าถือ หรือหันเท้าไปยังทางออกที่ใกล้ที่สุด

ในการเจรจาต่อรอง ถ้าคนคนหนึ่งได้ยินข้อเสนอที่ไม่น่าสนใจ หรือรู้สึกว่าถูกคุกคามระหว่างที่กำลังพูดคุยกันอยู่ คนคนนั้นอาจมีพฤติกรรมปิดกั้นเข้ามาผสมด้วย โดยเขาอาจจะหลับตา ขยี้ตา หรือยกมือขึ้นมาปิดหน้า พฤติกรรมนี้บ่งบอกถึงความรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ บ่งบอกว่าคู่สนทนารู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเจรจา

เมื่อเราเกิดความรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา สมองส่วนลิมบิกจะสั่งให้ร่างกายของเราทำพฤติกรรมที่ช่วยให้สติอารมณ์สงบ พยายามเยียวยาเราให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ การสังเกตพฤติกรรมสงบสติอารมณ์ของคนอื่น ช่วยให้คุณรู้ว่าตัวเขากำลังอึดอัดใจ หรือมีความรู้สึกในแง่ลบกับสิ่งที่คุณพูดหรือทำลงไปหรือเปล่า

พฤติกรรมสงบสติอารมณ์นั้นมีอยู่หลายแบบ เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายคนเราอาจจะผ่อนคลายตัวเองด้วยการนวดต้นคอเบา ๆ ลูบใบหน้า หรือจับผมเล่น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ผู้ชายมักขยับเนกไทหรือปกเสื้อ ส่วนผู้หญิงมักจับสร้อยคอที่ใส่ หรือแตะรอยบุ๋มระหว่างกระดูกไหปลาร้าของตัวเอง

การผิวปากก็เป็นพฤติกรรมสงบสติอารมณ์เหมือนกันครับ ตอนที่เดินเข้าไปในย่านที่ไม่คุ้น หรือตอนที่เดินเข้าไปในทางที่มืดและเปลี่ยว บางคนจะผิวปากเพื่อให้สติอารมณ์สงบลง หรือบางคนอาจพูดคุยกับตัวเองเพื่อลดความเครียดลง

อีกหนึ่งพฤติกรรมสงบสติอารมณ์ที่คนมักไม่ค่อยสังเกต เพราะมันเกิดขึ้นใต้โต๊ะ นั่นคือการเอาฝ่ามือถูกับหน้าตักของตัวเอง บางคนอาจถูเพียงครั้งเดียว บางคนอาจถูซ้ำ ๆ จนเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายตัวเอง การสังเกตพฤติกรรมสงบสติอารมณ์เหล่านี้ ช่วยให้รู้ได้ครับว่าคนคนนั้นกำลังเครียดอยู่


บทต่อไปผู้เขียนเจาะลึกถึงภาษากายที่ส่งออกมาผ่านอวัยวะต่าง ๆ ครับ โดยอวัยวะส่วนแรกคือขาและเท้า โดยคนที่กำลังมีความสุขจะแกว่งขาและเท้าของตัวเองไปมา ลองสังเกตดูครับว่าถ้ามีใครได้ยินหรือได้เห็นบางสิ่งแล้วแกว่งขาและเท้าขึ้นมากะทันหัน แสดงว่าสิ่งนั้นมีความสำคัญต่อเขา เป็นสัญญาณว่าคนคนนั้นกำลังได้สิ่งที่ต้องการ หรืออยู่ในสถานะที่กำลังเป็นต่อ แต่ก็มีข้อระวังอยู่อย่างหนึ่งครับ เมื่อคนเราเริ่มหมดความอดทนหรือรู้สึกว่าต้องไปทำอย่างอื่นต่อ เท้าของเรามักสั่นไปมา ต้องพิจารณาให้ดีครับว่าสัญญาณนั้นเกิดขึ้นเพราะการมีความสุขหรือเพราะหมดความอดทน

เมื่อคนเราตื่นเต้นดีใจมาก ๆ จะแสดงพฤติกรรมต้านแรงโน้มถ่วงครับ เราจะเดินตัวเบาราวกับกำลังลอยอยู่ในอากาศ อาการนี้เห็นได้ในเด็กที่กำลังจะได้เข้าไปในสวนสนุก พวกเขาจะกระโดดโลดเต้น

เมื่อคุณเห็นใครที่กำลังเจอกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้า คุณจะเห็นขาและเท้าของเขากางออก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเขากำลังพยายามควบคุมสถานการณ์และอาณาเขตของตัวเองเอาไว้ นอกจากนี้ยังเพื่อให้ทรงตัวได้ดีขึ้น เพื่อพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่อาจมีการปะทะ ในทางกลับกัน หากคุณเห็นใครที่เท้าของเขาหุบเข้าหากัน คุณคิดได้เลยว่าเขาคนนั้นกำลังไม่มีความสุข

ขาและเท้ายังช่วยบอกได้ด้วยว่าคนสองคนรู้สึกสบายใจแค่ไหนเมื่อต้องอยู่ใกล้กัน โดยทั่วไปแล้วถ้ารู้สึกสบายใจ คนเราจะยืนไขว้ขา การยืนไขว้ขานี้ทำให้เราทรงตัวได้แย่มาก ถ้าเจออันตรายเข้า คุณจะไม่สามารถตั้งรับหรือวิ่งหนีได้ทัน สมองส่วนลิมบิกจะยอมใหุ้คณยืนในท่าไขว้ขาก็ต่อเมื่อคุณรู้สึกสบายใจ รู้สึกมั่นใจ หรืออยู่กับคนที่สนิทด้วยเท่านั้น

ลองนึกถึงตอนที่คุณยืนไขว้ขาพิงผนังลิฟต์ตอนอยู่ในลิฟต์คนเดียวดูครับ ตอนนั้นคุณคงกำลังสบายใจอยู่ แต่พอมีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาในลิฟต์ คุณจะกลับมายืนตัวตรงทันที เพราะสมองส่วนลิมบิกสั่งให้คุณเตรียมพร้อม หากมีภัยคุกคามหรือเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้น

ท่าเดินก็บ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง เมื่อคนเราเปลี่ยนท่าเดิน แสดงว่าความคิดและความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตัวอย่างเช่น คนที่ปกติเดินท่าทางอารมณ์ดี แต่พอได้ยินว่าแฟนบาดเจ็บ อาจจะรีบพุ่งตัวเดินออกไป หรือเขาอาจเดินเฉื่อยชา เป็นซังกะตาย เพราะแบกเรื่องเครียดเอาไว้มาหลายวัน การเปลี่ยนท่าเดินช่วยเตือนให้รู้ว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติกับคนคนนั้นครับ


บทต่อไปพูดถึงภาษากายของลำตัว ซึ่งไล่ขึ้นไปตั้งแต่สะโพก, ช่วงท้อง, ช่วงอก จนมาถึงหัวไหล่ ช่วงลำตัวของคนเราประกอบไปด้วยอวัยวะสำคัญมากมาย เช่น หัวใจ ปอด ตับ และลำไส้ ในตอนที่เรากำลังเจอกับอันตรายหรือภัยคุกคาม สมองจะสั่งการให้เรารีบหาทางปกป้องอวัยวะสำคัญเหล่านี้ มาดูกันครับว่าลำตัวบ่งบอกอะไรให้เรารู้ได้บ้าง

เริ่มจากการเอนตัว เมื่อเราเห็นสิ่งที่คิดว่าเป็นอันตราย สมองส่วนลิมบิกจะส่งสัญญาณให้เราเอนตัวห่างจากสิ่งนั้น ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรายืนอยู่ใกล้คนที่เราไม่ชอบหรือน่ารังเกียจ ลำตัวของเราจะเอนห่างออกจากคนนั้น

อีกพฤติกรรมคือการหันตัวหนี ลองนึกถึงตอนที่มีคนที่คุณไม่ชอบเดินเข้ามาในงานเลี้ยงแล้วคุณหันตัวหนีไปทางอื่นดูครับ หรือตอนที่คุณหันหน้าหนีเมื่อได้ยินหัวข้อการสนทนาที่คุณไม่อยากคุย ในทางตรงกันข้าม คนเราจะโน้มตัวเข้าไปหาสิ่งที่เราพอใจ หรือคนที่เรารู้สึกดีด้วย การหันลำตัวเข้าหากันเป็นการเปิดเผยส่วนที่เปราะบางที่สุด สมองส่วนลิมบิกวิวัฒนาการพฤติกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการเข้าสังคม เมื่อเห็นคนหันตัวเข้าหากันหรือโน้มตัวเข้าใกล้กัน นั่นแสดงออกถึงการเปิดใจยอมรับโดยไม่มีการปิดกั้น

แต่หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเอนตัวเพื่อหนีห่างจากคนที่เราไม่ชอบได้ อาจเพราะไม่สะดวกหรือไม่อยากเสียมารยาท เรามักจะกอดอกเพื่อสร้างเกราะกำบังให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้เราอาจเอาสิ่งของมาสร้างเป็นเกราะป้องกันลำตัว เช่น ในวันแรก ๆ ของการเปิดเรียน มักเห็นนักศึกษาบางคนเอาสมุดจดหรือกระเป๋ามากอดแนบไว้กับตัว แต่พอเรียนไปสักพักจนเกิดความสบายใจขึ้นมา นักศึกษาเหล่านั้นจะเปลี่ยนมาถือสมุดหรือกระเป๋าไว้ข้างลำตัวแทน

เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ก็บ่งบอกอะไรได้มากมาย คนที่กำลังจะไปออกเดตจะแต่งตัวให้ดูมีเสน่ห์ แต่หากเป็นตอนทำงานจะแต่งตัวให้ดูเป็นมืออาชีพ อีกทั้งเสื้อผ้าบ่งบอกถึงฐานะ อาชีพ หรือสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่ เช่น การใส่ชุดดำไว้ทุกข์ การโพกหัวของชาวซิกข์

การแต่งตัวนั้นสำคัญมาก ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างสถานการณ์มาให้ลองคิดตามครับ สมมุติว่าเพื่อน ๆ กำลังเดินไปบนถนนที่เปลี่ยวในเย็นวันหนึ่ง จากนั้นได้ยินเสียงใครบางคนเดินตามหลังมาติด ๆ ตอนนั้นถนนมืด คุณจึงมองไม่เห็นหน้าของเขา แต่พอจะรู้ว่าเป็นผู้ชายที่ใส่สูทผูกเนกไท และถือกระเป๋าเอกสาร คุณจะประเมินชายคนนี้ยังไงครับ

คราวนี้ลองนึกภาพใหม่ คุณยังเดินอยู่บนถนนสายเดิม แต่คนที่เดินตามมาสวมเสื้อผ้ามอซอที่เต็มไปด้วยรอยเปื้อน ใส่รองเท้าที่เก่าและขาด คุณจะประเมินชายคนนี้ยังไงครับ เทียบระหว่างชายคนแรกกับคนที่สอง คนไหนทำให้คุณสบายใจมากกว่ากัน ผู้เขียนบอกว่าโชคร้ายที่พวกเราถูกตัดสินจากเสื้อผ้าที่ใส่ ดังนั้นต้องคิดให้ดีเวลาเลือกเสื้อผ้าครับ

โดยทั่วไปแล้วการนั่งเหยียดตัวบนเก้าอี้ หรือนั่งแบบปล่อยไหล มักเป็นสัญญาณของความสบายใจ แต่ก็มีกรณียกเว้น เช่น ตอนที่เด็กถูกพ่อแม่เทศนา เด็กมักจะนั่งแบบปล่อยไหล ซึ่งเป็นการแสดงออกทางกายว่าพวกเขาเป็นคนคุมสถานการณ์ การนั่งเหยียดตัวหรือปล่อยไหลเป็นท่าทางที่แสดงถึงการไม่เคารพผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า หากลูกของคุณทำแบบนี้ ตอนที่คุณกำลังสอนเรื่องที่สำคัญ คุณต้องแก้ไขพฤติกรรมนั้นทันที โดยการบอกให้ลูกนั่งตัวตรง แต่ถ้าไม่ได้ผลให้แสดงอาการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเขา โดยการนั่งลงข้าง ๆ หรือยืนอยู่ข้างหลังใกล้ ๆ ไม่นานสมองส่วนลิมบิกของลูกจะรู้สึกว่าถูกรุกล้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกนั่งตัวตรง เพื่อให้อยู่ในท่าเตรียมพร้อม

เมื่อเรารู้สึกเครียด หน้าอกของเราจะพองและหดอย่างรวดเร็วจากการหายใจเร็ว ๆ เพราะสมองส่วนลิมบิกจะเตรียมร่างกายให้พร้อม ร่างกายจะพยายามตุนเอาออกซิเจนเข้าไปให้ได้มากที่สุด เผื่อเราต้องต่อสู้หรือวิ่งหนี แม้แต่คนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง ตอนที่เครียดก็แสดงพฤติกรรมนี้

การยักไหล่มากหรือน้อยก็ซ่อนความหมายที่ต่างกันเอาไว้ครับ เมื่อคุณถามลูกน้องว่า "เมื่อกี้ลูกค้าร้องเรียนเรื่องอะไร" แล้วเขาตอบกลับมาว่า "ไม่รู้ครับ" พร้อมกับยักไหล่แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ยกไหล่ขึ้นไม่สุด ก็เป็นไปได้ว่าเขาตอบแบบเลี่ยง ๆ หรือกำลังโกหกคุณอยู่ แต่หากเขาตอบมาว่า "ไม่รู้ครับ" พร้อมกับยกไหล่ขึ้นจนแทบจะถึงหู ก็เป็นไปได้สูงที่จะไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะนี่คือพฤติกรรมต้านแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเขารู้สึกสบายใจและมั่นใจที่ตัวเองตอบไปแบบนั้น


บทต่อมาพูดถึงภาษากายของแขนครับ ผู้เขียนบอกว่าคนมักมองข้ามสิ่งที่แขนสื่อความหมาย แขนของคนเราเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก มันเป็นอวัยวะแรก ๆ ที่จะตอบสนองต่อภัยอันตราย อย่างเช่นถ้ามีใครปาอะไรมาทางเรา สมองส่วนลิมบิกจะสั่งการให้เรายกแขนขึ้นมาป้องกันตัวทันที บางครั้งมันอาจทำไปแบบไม่เข้าท่า ผู้เขียนบอกว่าเขาเคยเห็นคนยกแขนขึ้นมากันตัวเองตอนถูกยิง แม้ปกติสมองของคนเราจะคิดได้ว่าแขนใช้หยุดกระสุนไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปโดยสัญชาตญาณ แขนจึงเป็นอวัยวะที่แสดงถึงความรู้สึกของคนเราได้อย่างแม่นยำ

เมื่อเรามีความสุขหรือรู้สึกพอใจ แขนของเราจะเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ อย่างตอนที่เราดีใจมาก ๆ เราก็จะชูแขนขึ้นสูง นี่เป็นพฤติกรรมต้านแรงโน้มถ่วงอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกในแง่บวกครับ ส่วนคนที่กำลังรู้สึกไม่มั่นใจจะจำกัดการเคลื่อนไหวของแขน ราวกับว่าเขาไม่สามารถเอาชนะแรงโน้มถ่วงได้

การจำกัดการเคลื่อนไหวของแขนอาจบ่งบอกเรื่องร้ายได้ เด็กที่เคยถูกล่วงละเมิดจะจำกัดการเคลื่อนไหวของแขน เมื่อพวกเขาอยู่ใกล้คนที่ล่วงละเมิดพวกเขา ซึ่งนี่เป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอด เพราะธรรมชาติของสัตว์ผู้ล่าจะให้ความสนใจกับสิ่งที่เคลื่อนไหว ดังนั้นเด็กที่ถูกล่วงละเมิดจึงรู้ว่ายิ่งเคลื่อนไหว พวกเขาก็ยิ่งตกเป็นเป้าของผู้ล่วงละเมิด สมองส่วนลิมบิกจึงจำกัดการเคลื่อนไหวของพวกเขา ลองสังเกตพฤติกรรมนี้จากเด็กที่คุณพบเจอ มันอาจเป็นสัญญาณเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือก็เป็นได้ครับ

มีงานวิจัยจำนวนมากบอกว่าการสัมผัสคนที่เรารัก หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง มีความสำคัญอย่างมากต่อความสุข สุขภาพ และอารมณ์ของคนเรา เรามักจะโอบคน สัตว์ หรือสิ่งของที่เรารักเข้ามาแนบกับตัว กลับกันถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่น ถุงขยะเปียก เราจะหยิบถุงด้วยจำนวนนิ้วที่น้อยที่สุด และยืดสุดแขนให้ถุงขยะอยู่ห่างจากตัวมากที่สุด คุณสามารถสังเกตพฤติกรรมนี้ เพื่อดูว่าผู้คนที่คุณพบเจอรู้สึกอย่างไรต่อกัน พวกเขาเอาแขนเข้ามาใกล้กันหรือออกห่างกัน

การเท้าเอวให้ศอกกางออกเป็นพฤติกรรมแสดงอำนาจแบบหนึ่ง คุณอาจเคยเห็นตำรวจหรือทหารยืนคุยกันในท่านี้ แต่ในโลกธุรกิจ การยืนเท้าเอวจะถูกมองว่าไม่ดี เพื่อนตำรวจของผู้เขียนที่ลาออกไปทำธุรกิจ กลับมาเล่าให้เขาฟังว่าได้รับคำแนะนำให้งดเท้าเอว เพื่อลดภาพลักษณ์ที่ดูแข็งกระด้าง และดูอวดเบ่งจนเกินไป

แต่การเท้าเอวกลับมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้บริหารหญิง นี่คือภาษากายที่ทรงพลังสำหรับใช้ต่อกรกับผู้ชายในห้องประชุม การที่ผู้หญิงเท้าเอวแสดงออกว่าเธอเป็นคนหนักแน่น มีความมั่นใจ ไม่ยอมให้ใครมาข่มเหงง่าย ๆ หากเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้หญิงถูกเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายข่มในห้องประชุม ลองเท้าเอวดูครับ จะช่วยให้คุณพลิกกลับมาเป็นต่อได้

อีกพฤติกรรมแสดงอำนาจนอกจากการเท้าเอวแล้ว ยังมีการนั่งเอนตัวไปข้างหลังแล้วเอามือประสานกันไว้หลังศีรษะ ผู้เขียนเรียกการนั่งท่านี้ว่าท่าแผ่แม่เบี้ย เพราะศอกที่กางออกดูเหมือนงูที่กำลังแผ่แม่เบี้ย ท่าแผ่แม่เบี้ยนี้ทำให้คนเราดูตัวใหญ่กว่าความเป็นจริง และเป็นการประกาศว่า "รู้ไว้ซะว่าแถวนี้ใครใหญ่" เป็นการแสดงลำดับชั้นทางสังคมแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในห้องประชุมขณะกำลังรอให้การประชุมเริ่ม ผู้จัดการอาจทำท่าแผ่แม่เบี้ย เพื่อข่มลูกน้อง แต่พอผู้บริหารระดับสูงเข้ามาในห้อง ผู้จัดการคนนั้นจะรีบหยุดทำพฤติกรรมนั้นทันที เพราะการแสดงอำนาจเป็นสิ่งที่ผู้มีสถานะสูงกว่าเท่านั้นถึงจะทำได้

พฤติกรรมการนั่งแล้วเอาแขนพาดไปที่พนักพิงของเก้าอี้อีกตัว เป็นสัญญาณบอกถึงความมั่นใจและสบายใจ แต่หากเมื่อไหร่ที่คนคนนั้นถูกถามเกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้เขาลำบากใจ เขาจะหดแขนกลับเข้ามาอย่างรวดเร็ว

ผู้เขียนบอกว่าวิธีผูกมิตรกับผู้อื่นที่ดีที่สุดคือการแตะไปที่แขนของคนคนนั้น สำหรับคนส่วนใหญ่ การแตะที่แขนถือว่าเป็นบริเวณที่ปลอดภัยสำหรับการเริ่มสัมผัสกันอย่างเป็นมิตร และสื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณชื่นชอบในตัวเขา การสัมผัสเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารและความกลมเกลียวกันในสังคมครับ


บทต่อไปพูดถึงภาษากายที่ส่งออกมาจากมือครับ มือของเราเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวซับซ้อนมาก มันจึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมองของเราออกมาได้ แม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเล็กน้อยมากก็ตาม นอกจากนี้มนุษย์ในสมัยโบราณ ก่อนที่จะมีภาษาพูด บรรพบุรุษของเราใช้มือสื่อสารอารมณ์ ความคิด และความรู้สึก ดังนั้นมือจึงเป็นแหล่งข้อมูลที่ช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้คน แม้เขาจะไม่ได้พูดมันออกมาก็ตาม

หากเทียบกับอวัยวะอื่น ๆ สมองของคนเราให้ความสนใจกับมือมากเป็นพิเศษ  มนุษย์เราวิวัฒนาการความสามารถในการอ่านมือของผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อดูว่ามือของอีกคนกำลังสื่อสารอะไร บ่งบอกถึงอะไรที่เป็นอันตรายไหม เช่น ถืออาวุธมาด้วยหรือเปล่า สมองคนเราพุ่งความสนใจไปที่มือเป็นอันดับแรก นักพูดที่ประสบความสำเร็จรู้พฤติกรรมนี้ จึงใช้มือเพื่อช่วยเสริมการพูดให้ตรงประเด็นและเร้าใจมากขึ้น

เมื่อคนเราให้ความสนใจมือของอีกฝ่าย หากคุณพยายามซ่อนมือของตัวเองเอาไว้ คนอื่นอาจมองคุณด้วยความกังขาขณะที่คุณกำลังพูด เมื่อเราคุยกับใครบางคนแบบตัวเป็น ๆ เราย่อมคาดหวังว่าจะได้เห็นมือของอีกฝ่าย เพราะสมองของเรามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารที่แยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้นเวลาที่คุยกับใครต้องให้คู่สนทนาเห็นมือของคุณด้วย อย่าสร้างความอึดอัดใจให้เขาด้วยการซ่อนมือไว้ใต้โต๊ะนะครับ

ในหลายประเทศทั่วโลก การชี้นิ้วใส่คนอื่นถือว่าหยาบคาย คนเราไม่ชอบให้ใครมาชี้นิ้วใส่ ไม่ว่าจะเป็นที่สนามเด็กเล่นหรือในคุกก็ตาม พ่อแม่ไม่ควรชี้นิ้วใส่ลูกขณะกำลังสั่งสอนลูก เพราะลูกจะประเมินคำสอนของคุณว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นมิตรจากการทำท่าดังกล่าว

อาการมือสั่นเกิดขึ้นได้ทั้งจากความกลัวและความยินดี เมื่อเราเห็น ได้ยิน หรือนึกถึงสิ่งที่อาจทำให้เกิดอันตราย สมองส่วนลิมบิกจะถูกกระตุ้นเพราะความเครียด ฮอร์โมนทั้งหลาย เช่น อะดรีนาลินจะหลั่งออกมา ทำให้มือของเราสั่นจนควบคุมไม่อยู่ ในอีกกรณีมือของเราอาจสั่นเพราะอารมณ์แง่บวกได้เช่นกัน อย่างตอนที่เราถือลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่หนึ่งไว้ในมือ มือของเราจะสั่นจนคุมไม่อยู่

คุณต้องสังเกตและตอบให้ได้ว่าอาการมือสั่นนั้นเกิดขึ้นจากอารมณ์แง่ลบหรือแง่บวก แต่ผู้เขียนบอกว่าถ้าเขาเห็นใครมีอาการมือสั่น เขาจะตีว่าเกิดจากอารมณ์แง่ลบเอาไว้ก่อน แต่อาการมือสั่นก็มีข้อยกเว้น อย่างคนที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันซึ่งมีอาการมือสั่นเป็นปกติ หรือในคนติดยาหรือติดเหล้าก็มือสั่นเป็นปกติเช่นกันครับ

การแสดงออกของมือช่วยบอกถึงความมั่นใจ การกางนิ้วมือแล้วประกบปลายนิ้วเข้าหากันในท่าคล้าย ๆ การพนมมือ โดยฝ่ามือไม่ได้แตะกัน ท่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคนคนนั้นกำลังมั่นใจในความคิดหรือจุดยืนของตัวเอง คนที่มีสถานะทางสังคมสูง เช่น ทนายความ แพทย์ และผู้พิพากษามักจะกางมือท่านี้เป็นประจำ หากคุณเป็นพนักงานขายสามารถนำประโยชน์จากการกางมือท่านี้ไปใช้ได้ หรือนำไปใช้ตอนที่คุณสัมภาษณ์งาน นำเสนองาน เพื่อให้การสื่อสารของคุณบ่งบอกถึงความมั่นใจให้คนอื่นได้รับรู้

นิ้วหัวแม่มือก็บ่งบอกถึงความมั่นใจได้เหมือนกัน เมื่อใครคนหนึ่งชูนิ้วหัวแม่มือขึ้น นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าเขามองตัวเองในแง่ดีสุด ๆ หรือมั่นใจในความคิดหรือสถานการณ์ขณะนั้น การชูนิ้วหัวแม่มือเป็นพฤติกรรมต้านแรงโน้มถ่วงแบบหนึ่ง ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะตอนที่เรารู้สึกสบายใจหรือมีความมั่นใจสูง กลับกันในคนที่มีความมั่นใจต่ำ คนคนนั้นจะซ่อนนิ้วหัวแม่มือไว้ในกระเป๋ากางเกง หรือกำนิ้วหัวแม่มือของตัวเองเอาไว้

ท่าเอานิ้วมือมาประสานกันที่ดูคล้ายกับท่าสวดภาวนาของชาวคริสต์ เป็นพฤติกรรมสงบสติอารมณ์แบบหนึ่ง ที่คนจะทำตอนเกิดความเครียดหรือมีความมั่นใจต่ำ หากมีการบีบมือตัวเองแรงขึ้น จนนิ้วเริ่มซีดก็แสดงว่าสถานการณ์นั้นกำลังเลวร้าย


บทต่อไปพูดถึงภาษากายของใบหน้า มนุษย์เราวิวัฒนาการจนกลายมาเป็นสัตว์ที่แสดงออกทางสีหน้าได้หลายแบบที่สุดในโลก มีการประมาณการว่ามนุษย์เราสามารถแสดงสีหน้าที่แตกต่างกันได้มากถึง 10,000 แบบ ดังนั้นเวลาที่เรามองหน้าใคร เราแทบจะรู้ได้ทันทีว่าคนคนนั้นกำลังเบื่อ เศร้า เหนื่อย ตื่นเต้น หรือหงุดหงิด

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใบหน้าจะสื่อถึงความรู้สึกที่แท้จริงเสมอไป เพราะคนเราสามารถควบคุมการแสดงออกทางใบหน้าได้ระดับหนึ่ง และเราถูกสอนให้โกหกทางใบหน้ามาตั้งแต่เด็ก เช่น ถูกสอนว่าอย่าทำสีหน้าไม่พอใจเวลาต้องกินอาหารที่ไม่ชอบ หรือถูกบังคับให้ฝืนยิ้มเมื่อต้องทักทายคนที่ไม่ชอบ

อวัยวะแรกบนใบหน้าที่ผู้เขียนพูดถึงคือดวงตา คนเราควบคุมรูม่านตาไม่ได้ เวลาเราตื่นตัวหรือแปลกใจ เปลือกตาของเราจะเปิดออก และรูม่านตาจะขยายให้แสงเข้ามาได้มากที่สุด เพื่อให้ข้อมูลตรงหน้าส่งไปถึงสมองได้มากที่สุด เมื่อประมวลผลแล้วสิ่งตรงหน้าเป็นภัยคุกคาม รูม่านตาของเราจะหดลงภายในเสี้ยววินาที

แต่หากรูม่านตายังขยายอยู่จะบ่งบอกถึงความพอใจและความรู้สึกในแง่บวก เหมือนสมองกำลังบอกเราว่า "ฉันชอบสิ่งที่เห็น ขอดูให้ชัด ๆ หน่อย" ซึ่งเวลาที่เรารู้สึกพอใจมาก ๆ ไม่ใช่แค่รูม่านตาจะขยายเท่านั้น แต่เราจะเลิกคิ้วสูงด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมต้านแรงโน้มถ่วงแบบหนึ่ง รูม่านตาอาจสังเกตยากหน่อยในคนเอเชียที่มีดวงตาเป็นสีดำอย่างพวกเรา

การจ้องตาอาจสื่อได้ทั้งความรักหรือความเกลียดชังก็ได้ ในคู่รักที่รักกันมาก ๆ จะชอบจ้องตากันและกัน แต่พวกผู้ร้ายใช้การจ้องตาเหยื่อตรง ๆ เพื่อข่มขู่ ดังนั้นคุณต้องประเมินส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เพื่อพิจารณาว่าการจ้องตานั้นมาแบบเป็นมิตรหรือแบบศัตรู

มีหลายคนเข้าใจว่าการหลบสายตาเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกว่าคนคนนั้นกำลังโกหก แต่ความจริงแล้วมันอาจแสดงออกถึงความสบายใจ เมื่อเรากำลังคุยกับเพื่อน เรามักจะหันไปมองทางอื่นบ้างเป็นครั้งคราว เพราะสมองส่วนลิมบิกเห็นว่าเพื่อนของเราไม่ได้จะทำอันตราย และบางครั้งการละสายตามองไปทางอื่น ยังช่วยให้ความคิดของเราปลอดโปร่งยิ่งขึ้น

ปากของเราก็ให้เบาะแสมากมาย การเม้มปากจนริมฝีปากหายไป บ่งบอกถึงความรู้สึกในแง่ลบ บ่งบอกว่าคนคนนั้นกำลังเจอปัญหา เขากำลังเจอกับเรื่องที่เครียดเอามาก ๆ ส่วนการทำปากจู๋บ่งบอกว่าคนคนนั้นไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คนอื่นพูด คุณสามารถนำสัญญาณนี้มาใช้ประโยชน์ขณะกำลังนำเสนองาน เมื่อเห็นคนทำปากจู๋เพราะข้างในรู้สึกไม่เห็นด้วย ลองพิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนข้อเสนอยังไงให้ถูกใจเขา

การทำหน้าผากย่นมักเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกกระวนกระวาย เศร้า เป็นกังวล งุนงง หรือโกรธ พฤติกรรมย่นหน้าผากมีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ และพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป แม้กระทั่งหมาก็ทำหน้าผากย่น เมื่อมันรู้สึกเศร้าหรือกระวนกระวายใจ

การทำจมูกบานสื่อถึงความตั้งใจที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง เช่น การเดินขึ้นบันไดสูงชั้น หรือการย้ายตู้หนังสือ รูจมูกที่บานออกเป็นเพราะร่างกายต้องการสูดเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกายให้มากขึ้น

การกัดเล็บบ่งบอกถึงความเครียด ความไม่มั่นคง และความอึดอัดใจ เมื่อคุณเห็นใครกัดเล็บในระหว่างการเจรจาต่อรองแม้เพียบแวบเดียว ก็เดาได้เลยว่าเขากำลังไม่มั่นใจในตัวเอง คนที่กำลังรอเข้าห้องสัมภาษณ์ อย่ากัดเล็บตัวเอง เพราะนอกจากจะไม่น่ามองแล้ว มันยังเป็นการบอกให้คนอื่นรู้ว่าตัวคุณรู้สึกไม่มั่นคง


นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ เพื่อน ๆ สามารถนำเทคนิคในเล่มไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง เพื่อสังเกตและทำความเข้าใจผู้คนที่อยู่รอบตัว แม้เราจะห้ามคนอื่นไม่ให้โกหกเราไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็รู้วิธีตั้งรับเมื่อเขาพยายามโกหกเรา ใครสนใจอยากอ่านเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้อย่างเต็ม ๆ สามารถหามาอ่านได้ครับกับหนังสือ "ร่างกายไม่เคยโกหก คู่มืออ่านคนฉบับเอฟบีไอ" เขียนโดย โจ นาวาร์โร ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 275 บาท