Hegarty on Creativity: ลบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง - คำแนะนำสำหรับคนใช้ใอเดียทำงาน

Hegarty on Creativity: ลบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง - คำแนะนำสำหรับคนใช้ใอเดียทำงาน

ไอติมอ่าน ep นี้มาแนะนำเนื้อหาจากหนังสือ Hegarty on Creativity หรือชื่อภาษาไทย ลบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง เขียนโดย จอห์น เฮการ์ตี นักโฆษณาที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ เขาเคยทำโฆษณาให้แบรนด์ดังระดับโลกมาแล้วมากมาย เช่น ลีวายส์, เพลย์สเตชั่น, จอห์นี วอล์กเกอร์ หรือสายการบินบริติช แอร์เวย์ หนังสือเล่มนี้ได้ให้ 50 คำแนะนำที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ผมไม่ได้จะมาสรุปคำแนะนำทั้งหมด แต่เลือกคำแนะนำที่เห็นว่ามีประโยชน์มาให้เพื่อน ๆ ฟังกันครับ

ก่อนเข้าเรื่องผู้เขียนได้พูดถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์เอาไว้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ส่งผลต่อชีวิตเราในหลายด้าน ไล่ตั้งแต่เสื้อผ้าที่เราซื้อ บ้านที่เราอยู่ รถที่เราขับ ไปจนถึงอาหารที่เรากิน ความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งที่ทำให้โลกของเราสมบูรณ์ขึ้น มันช่วยอธิบายความเป็นตัวเราและสร้างความเพลิดเพลินให้กับเรา ในเมื่อความคิดสร้างสรรค์มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา จึงไม่แปลกที่คนมักพูดกันว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวกำหนดอนาคต

แล้วอะไรคือสิ่งที่ขับเคลื่อน กระตุ้น และรักษาไว้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ภายในตัวเราเอาไว้ ตลอดชีวิตการทำงานในวงการโฆษณาตลอด 40 ปีที่ผ่านมาของผู้เขียน ประสบการณ์บอกเขาว่าการไว้ผมยาวเฟื้อย แต่งตัวพิลึก ๆ หรือทำตัวหยาบคายใส่คนอื่น ไม่ได้ช่วยให้คุณทำงานสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ส่งผลต่อการมีความคิดสร้างสรรค์คือการตระหนักรู้ ความละเอียดอ่อน ความหลงไหล ความใส่ใจ และความมุ่งมั่นต่างหาก

ผู้เขียนได้ให้คำจำกัดความของความคิดสร้างสรรค์เอาไว้ว่า "การแสดงออกถึงตัวตน" เราทุกคนล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ใช้มันหาเลี้ยงชีพได้ หากเพื่อน ๆ เป็นหนึ่งในคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำงาน มาฟังกันครับว่าผู้เขียนได้ให้คำแนะนำสำหรับคนในวงการนี้ไว้ว่าอะไรบ้าง


ไอเดีย

ในแต่ละวันเรามีไอเดียผุดขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นไอเดียที่ยิ่งใหญ่ ไอเดียที่น่าขำหรือฟังดูไม่เข้าท่า ทุกไอเดียล้วนช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าของมนุษยชาติ การคิดไอเดียคือความเท่าเทียมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะมันไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ หรือต้องฝึกฝนมาก่อนแต่อย่างใด แถมจะคิดไอเดียที่ไหน เมื่อไหรก็ได้ โดยเฉพาะตอนที่เราไม่ได้คิดอะไรนี่แหละคือตอนที่ไอเดียดี ๆ ชอบผุดขึ้นมา

คุณไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับไอเดียที่เป็น "ของแท้" เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นของแท้จริง ๆ ทุกสิ่งที่เราสร้างขึ้น ล้วนสร้างมาจากสิ่งที่มีมาก่อนอยู่แล้ว ทุกไอเดียล้วนหยิบยืม หลอมรวม หักล้าง ต่อยอด และได้รับอิทธิพลมาจากไอเดียอื่นกันทั้งนั้น แต่การขโมยไอเดียคนอื่นมาดื้อ ๆ นั้นเป็นเรื่องผิด

แทนที่จะสนใจกับคำว่าของแท้ ผู้เขียนบอกว่ามาให้ความสำคัญกับคำว่า "สดใหม่" จะดีกว่า ผลงานสร้างสรรค์ต้องตั้งคำถาม ให้คำอธิบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่เห็น ตอนที่คุณกำลังมองหาความสดใหม่ ลองถามตัวเองดูว่างานชิ้นที่คุณทำถึงกับทำให้คนหยุดชะงักเลยหรือเปล่า คนจะสังเกตเห็นมันในทันทีเลยหรือไม่ ไม่มีใครสนใจงานที่ดูแล้วรู้สึกเฉย ๆ หรืองานที่เคยเห็นมาแล้วหรอกครับ


อย่ากลัว

ผู้เขียนเคยคุยกับนักวิจัยคนหนึ่งถึงเรื่องที่เขาพูดเอาไว้ว่า "ทุกคนล้วนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัว" นักวิจัยคนนั้นถามกลับมาว่า "แต่คุณหาเงินจากมันได้ด้วยนี่ คุณมีอะไรอยู่ในตัวกันแน่ ถึงทำแบบนั้นได้" คำถามนี้ถึงกับทำให้ผู้เขียนชะงัก เพราะเขาไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อนเลย เขาลองขบคิดถึงสิ่งที่ตัวเองเคยทำ รวมถึงสิ่งที่คนอื่นทำแล้วเขายกย่อง ก็ได้พบว่ามีสิ่งหนึ่งที่เขาให้คุณค่ามากกว่าสิ่งอื่น ๆ นั่นคือ "อย่ากลัว"

ความไม่กลัวคือคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับคนทำโฆษณา คนเหล่านี้ต้องตื่นมาทำงานพร้อมกับไอเดียใหม่ ๆ และนำไปเสนอกับกลุ่มคนที่พร้อมจะระดมยิงคำถามใส่เป็นชุด ผู้เขียนยกเรื่องราวของ แดนนี บอยล์ ที่นำเสนอไอเดียพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2012 ซึ่งถูกคนจำนวนมากแคลงใจว่ามันจะออกมาดีเหรอ ไม่เคยเห็นใครทำมาก่อนเลย แต่บอยล์เชื่อมั่นในไอเดียของตัวเอง และเดินหน้าต่อด้วยความไม่กลัว ผลที่ออกมาคือความสดใหม่ ถึงขั้นพลิกโฉมแนวทางการจัดพิธีต่าง ๆ ไปตลอดกาลเลยทีเดียว


จงเกรี้ยวโกรธ

สำหรับคนส่วนใหญ่ เมื่อสะสมความโกรธเอาไว้มาก ๆ จะกลายเป็นความเครียด แต่สำหรับศิลปินแล้ว หากจัดการและนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ความโกรธอาจกลายเป็นพลังงานที่ดี และสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาได้

ผู้เขียนบอกว่าเขารู้สึกสะเทือนใจมากที่เด็ก ๆ ต้องมารับเคราะห์จากควันบุหรี่มือสองที่พวกผู้ใหญ่สูบ พอวันหนึ่งเขามีโอกาสได้ทำโครงการรณรงค์เลิกบุหรี่ เขาจึงออกโปสเตอร์เป็นรูปเด็กน้อยกำลังสูบบุหรี่ พร้อมกับข้อความพาดหัวว่า "ลูกคุณสูบบุหรี่วันละกี่มวน" ปรากฏว่ามันกระตุ้นให้คนหันมาสนใจเรื่องนี้ และพากันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่

คุณจะเกรี้ยวโกรธก็ได้ แต่อย่าให้ความโกรธนั้นแผดเผาคุณ จงไปหยิบกระดาษ ผืนผ้าใบ หรืออะไรก็ได้ แล้วปลดปล่อยความโกรธออกมา แล้วคุณจะทึ่งกับผลงานที่ออกมาว่ามันมีความสร้างสรรค์มากแค่ไหน


เทคโนโลยี

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย ยุคดิจิตอลได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมทั้งหลาย ทั้งทำลายและสร้างอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมา เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่เราใช้ถ่ายทอดไอเดียออกมา ในช่วงแรกที่เทคโนโลยีเพิ่งเกิด ผู้คนไม่รู้ว่าจะเอามันไปใช้ทำอะไร

กูเตนเบิร์กเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์ แต่เขาไม่ใช่ผู้ก่อตั้งธุรกิจสิ่งพิมพ์ สองพี่น้องลูมิแยร์เป็นผู้ประดิษฐ์กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว แต่พวกเขาไม่ได้ริเริ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขึ้นมา

คนที่ทำงานสร้างสรรค์ต่างหากที่เป็นคนนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ อย่ากลัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ ลองสำรวจดูว่าคุณสามารถใช้มันสื่อสารไอเดียของตัวเองออกมาได้ยังไง คุณอาจพบว่าตัวเองสนุกไปกับมันก็เป็นได้

หากโลกเราไม่มีเทคโนโลยี มนุษย์เราคงปลดปล่อยไอเดียได้แค่เล่าเรื่องแบบปากเปล่า หรือวาดภาพง่าย ๆ ลงบนผนังถ้ำ เทคโนโลยีช่วยทำลายข้อจำกัดเดิม ๆ และพาเราไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ แต่ถึงยังไงแม้เทคโนโลยีจะดีเลิศแค่ไหน หากมันไม่สามารถนำมาใช้สื่อสารไอเดียได้ คุณค่าของมันก็ย่อมหมดไป


การมองโลกแง่ร้าย

การมองโลกแง่ร้ายคือจุดจบของความคิดสร้างสรรค์ โดยทั่วไปแล้วความคิดสร้างสรรค์คือพลังงานเชิงบวกที่พาเราไปพบกับสิ่งดี ๆ ช่วยให้เรามองโลกในแง่มุมที่แปลกออกไปและน่าสนใจยิ่งขึ้น ความคิดสร้างสรรค์กระตุ้นให้เรากล้าหาญ กระตือรือร้น และสนุกสนาน

แต่ความคิดสร้างสรรค์ถูกทำลายได้ง่ายด้วยฝีมือของคนมองโลกในแง่ร้าย หากคุณหลงไปตามคำพูดของคนเหล่านั้น คุณจะเริ่มมองโลกในแง่ร้าย และลามไปกัดกินวิธีคิดและวิธีทำงานของคุณ จะดีกว่าถ้าคุณพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนที่มองโลกในแง่ดีและเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปได้


อย่ามองข้ามทักษะเฉพาะด้าน

คนทำงานสร้างสรรค์จำนวนมากคิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะด้าน พวกเขามองว่าขอแค่ตัวเองคิดไอเดียให้ได้เยอะ ๆ ในหัวข้อที่หลากหลายก็พอแล้ว แต่ผู้เขียนบอกว่าคุณควรเจาะลึกลงไปในทักษะสักทักษะหนึ่ง เพื่อให้มีรากฐานที่แข็งแกร่งซึ่งจำเป็นต่อการผลิตไอเดียที่ยอดเยี่ยม

เมื่อฝึกทักษะนั้นจนชำนาญแล้ว คุณจะลองฝึกทักษะอื่นต่อก็ได้ ขอแค่อย่าทำ ๆ หยุด ๆ หรือเปลี่ยนไปหาทักษะใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ชำนาญทักษะอะไรเลย ขอให้คุณจดจ่อเข้าไว้

ผู้เขียนบอกว่าบทสนทนาที่น่าสนใจมักเกิดขึ้นเมื่ออีกฝ่ายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ผู้กำกับภาพยนตร์ นักวาดภาพประกอบ นักออกแบบ คนเหล่านี้ฝึกฝนทักษะจนชำนาญและจดจ่ออยู่กับมันทั้งวันทั้งคืน พวกเขาทุ่มสุดตัวให้กับศิลปะแขนงที่ตัวเองเลือก และนั่นทำให้ผลงานของพวกเขาออกมาพิเศษกว่าใคร


รู้ว่าเมื่อไหร่ควรพลิกหน้าถัดไป

สมัยที่ผู้เขียนเรียนวิชาวาดภาพจากแบบคนจริง ครูผู้สอนจะเดินไปรอบ ๆ ห้องเพื่อให้คำแนะนำแก่นักเรียน ครั้งหนึ่งครูไปหยุดที่นักเรียนคนหนึ่งและบอกให้ทุกคนหยุดวาด แล้วครูก็เอ่ยขึ้นมาว่า

เวลาที่วาดไม่ได้ดั่งใจหรือมีอะไรผิดพลาด สิ่งที่ไม่ควรทำคือพลิกไปวาดที่กระดาษแผ่นใหม่ แต่เธอต้องแก้ภาพเดิมไปจนกว่าจะใช้ได้ แล้วค่อยพลิกหน้าถัดไป นั่นแหละคือการเรียนรู้

ครูนิ่งไปครู่หนึ่งและพูดต่อว่า

ครูว่าชีวิตคนเราก็เหมือนกัน

นั่นเป็นคำแนะนำที่ตราตรึงใจผู้เขียนมาจนถึงทุกวันนี้ อย่าเพิ่งเริ่มใหม่จนกว่าคุณจะบรรลุเป้าหมายแรก จงทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะถ้าคุณไม่ทุ่มสุดตัว คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าฝีมือของตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน


อัตตา

สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ อัตตาอาจเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรู อัตตา หรือ ego คือการให้ความสำคัญกับตัวเอง การมีความคิดสร้างสรรค์คือการแสดงออกถึงตัวตน ดังนั้นการมีอัตตาในระดับที่พอเหมาะจึงเป็นสิ่งสำคัญ

แต่อัตตาที่มากไปอาจกลายเป็นจุดจบของคุณได้ เพราะมันจะกลายเป็นความหลงตัวเอง คุณจะเลิกใส่ใจความต้องการของคนอื่น หากมีอัตตามาก ๆ มันก็จะกลายเป็นความจองหอง กลายเป็นความหยิ่งยโส การรักษาสมดุลของอัตตาจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย


การตรวจแก้

การคิดไอเดียให้ได้เยอะ ๆ เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องแยกให้ออกว่าไอเดียไหนยอดเยี่ยมจริง ๆ และไอเดียไหนเป็นเพียงความคิดไร้สาระที่พรั่งพรูออกมาจากสมอง ตรงนี้เองที่การตรวจแก้เข้ามามีความสำคัญ การตรวจแก้ช่วยให้เรามั่นใจว่ามันเป็นไอเดียที่ดีจริง ๆ

ความสามารถในการบอกว่าไอเดียไหนดีมีความสำคัญไม่แพ้การคิดไอเดีย มีหลายคนที่สามารถผลิตไอเดียออกมาได้ไม่รู้จบ แต่ติดปัญหาที่ว่าพวกเขาบอกไม่ได้ว่าไอเดียไหนดีและไอเดียไหนไร้ประโยชน์ ดังนั้นคุณควรมองหาใครสักคนที่ไว้ใจได้และร่วมกันตรวจแก้ไอเดีย


อย่าอ่านข่าวเกี่ยวกับตัวเอง

การตำหนิทำได้ง่ายกว่าการชมเชย นักวิจารณ์หลายคนคิดว่าการติงานคนอื่นทำให้ตัวเองดูฉลาด หากคุณทำงานสร้างสรรค์ออกมา จนกลายเป็นที่ถกเถียงของผู้คน แล้วมีนักวิจารณ์ไร้กึ๋นออกมาแสดงความคิดเห็นแย่ ๆ วิธีรับมือที่ดีที่สุดคือการช่างหัวมัน

สิ่งที่นักวิจารณ์พวกนี้ต้องการคือความสนใจ แต่ถ้าคุณไม่ใส่ใจกับคำวิจารณ์ไร้สาระของพวกเขา ก็จะทำให้เขาหงุดหงิดและพ่ายแพ้ไปเอง ถ้าคุณไม่อ่านคำวิจารณ์แย่ ๆ นอกจากไม่ต้องเอาเวลาไปเสียแล้ว คุณยังไม่ต้องเสียอารมณ์และเสียพลังงานอันมีค่าไปกับอะไรแย่ ๆ ด้วย


ย้ายที่นั่ง

กิจวัตรเดิม ๆ ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของคุณ หากทำงานอยู่แล้วไอเดียของคุณตีบตัน พยายามเท่าไหร่แรงบันดาลใจก็ไม่โผล่มาสักที ผู้เขียนแนะนำว่าในสถานการณ์แบบนี้ให้ลองย้ายที่นั่งดูครับ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำสิ่งต่าง ๆ ตามความเคยชิน เมื่อเวลาผ่านไปความเคยชินนั้นก็จะกลายเป็นกิจวัตร จริงอยู่ที่กิจวัตรนั้นมีความสำคัญ แต่หากต้องคิดหาไอเดียใหม่ ๆ การเปลี่ยนกิจวัตรอาจให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากก็เป็นได้ครับ

การสลับที่นั่งกับเพื่อนร่วมงาน แม้ที่นั่งของคุณกับเพื่อนจะอยู่ห่างกันแค่เมตรเดียว แต่มุมมองของคุณจะเปลี่ยนไปทันที สมองจะมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่มุมที่ต่างไปจากเดิม ถ้าอยากก้าวหน้ากว่านั้นให้ลองย้ายไปอยู่เมืองอื่นดู ผู้เขียนบอกว่าช่วงที่เขาบินไปทำงานที่นิวยอร์กเป็นเวลาสองปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขากระตือรืนร้นที่สุดครับ


มองการณ์ใกล้

หลายคนคงเคยโดนถามว่าคุณมีแผนสำหรับอีก 5 ปีข้างหน้าหรือเปล่า? ผู้เขียนบอกว่าเขาตอบคำถามนี้ว่า "ไม่มี ผมมีแต่แผน 5 นาที" การตอบแบบนี้อาจฟังดูเหมือนเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเอง แต่หากคุณอยากก้าวหน้าในวงการสร้างสรรค์ คุณต้องเตรียมใจรับมือกับสิ่งเหนือความคาดหมายเอาไว้ด้วย

อนาคตไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นเราควรเลิกคาดการณ์ว่าจะมีอะไรรอเราอยู่ข้างหน้า แล้วหันมาทำปัจจุบันให้เต็มที่และตักตวงความสุขจากมันให้ได้มากที่สุดจะดีกว่าครับ ทำสิ่งที่คุณสนใจ แล้วสิ่งที่น่าสนใจจะเกิดขึ้นกับคุณเอง

ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง แต่หากคุณคิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะทำอะไรในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็ไม่มีทางที่คุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เลย นี่คือเหตุผลว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงมีความสุขมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็ก ๆ ใช้เวลาทุกชั่วขณะอย่างคุ้มค่า โดยไม่คอยพะวงกับอนาคต


สนุกกับสิ่งที่ทำ

ท้ายเล่มผู้เขียนบอกว่าคำแนะนำที่ดีที่สุดที่เขาจะให้ได้คือ "จงสนุกกับสิ่งที่ทำ" ในการทำงานสร้างสรรค์ ถ้าคุณไม่สนุกกับมัน คุณจะไม่มีวันสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาได้ แต่การที่คุณรู้สึกสนุกก็ไม่ได้รับประกันว่างานจะออกมาดี

ไม่ว่าคุณจะวาดภาพ เขียนหนังสือ แต่งเพลง หรือทำงานสร้างสรรค์ใด ๆ คุณคือคนกำหนดความเป็นไปได้ทั้งหมด กำหนดว่าเรื่องราวจะดำเนินไปยังไง มีตัวละครแบบไหน ใครตกหลุมรักใคร และทุกอย่างจะลงเอยยังไง คุณคือผู้ตัดสิน

ไม่มีสิ่งใดมาจำกัดจินตนาการของคุณได้ แม้คุณต้องเจอกับลูกค้าที่บอกปัดไอเดียของคุณ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะโน้มน้าวลูกค้ายังไงให้เชื่อว่าไอเดียของคุณคุ้มค่าน่าลอง ไม่ว่าจะทำอะไรหรือเผชิญอุปสรรคอะไร ให้สนุกกับมันไปดีกว่าครับ แล้วคุณจะทำได้ดีอีกหลายเท่าเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้คือคำแนะนำจาก จอห์น เฮการ์ตี ในหนังสือ Hegarty on Creativity หรือชื่อภาษาไทย ลบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ แต่ละบทสั้น ๆ เนื้อหาตรงจุด ไม่เวิ่นเว้อยืดเยื้อ มีการ์ตูนตลกแทรกตลอดทั้งเล่ม ซึ่งแต่ละมุกตลกมาก ผู้เขียนมี sense of humor ที่เฉียบคมมาก เล่มนี้จึงอ่านเพลินมากครับ ฉบับภาษาไทยออกมาตอนปี 2015 ตอนนี้หาตามร้านหนังสือทั่วไปไม่เจอแล้ว ใครสนใจลองหาซื้อออนไลน์ดูครับ