ทุกคนมีเวลาเท่ากันวันละ 24 ชม. แต่ทำไมบางคนทำงานออกมาได้มากกว่าคนอื่น? ไอติมอ่าน ep นี้มาสรุปเนื้อหาจากในหนังสือ "แค่ใช้เวลาเป็น ไม่ต้องเก่งก็ไปได้ไกลกว่า" ซึ่ง เควิน ครูส ผู้เขียนได้ศึกษาเคล็ดลับความสำเร็จของมหาเศรษฐี 7 คน, นักกีฬาโอลิมปิก 13 คน, นักเรียนเกรดเอล้วน 29 คน และนักธุรกิจชื่อดัง 239 คน ออกมาเป็น 15 เคล็ดลับ ซึ่งผมสรุปเคล็ดลับที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์มาให้เพื่อน ๆ ดังนี้ครับ
ตั้งเป้าหมาย
เทเรซ เมกัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี-เซนต์หลุยส์ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการเวลา งานวิจัยพบว่าการรู้ว่าต้องจดจ่อกับสิ่งใด และจะทำมันให้เสร็จได้อย่างไร ช่วยให้ทำงานได้มากขึ้น ส่งผลให้มีความสุขและกระฉับกระเฉงมากขึ้นอีกด้วย คุณต้องตั้งเป้าหมายว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ การตั้งเป้าหมายใช้ได้กับทุกเรื่อง ทั้งเรื่องงาน, สุขภาพ, ความมั่งคั่ง และความสัมพันธ์
สิ่งสำคัญคือเป้าหมายของคุณต้องชัดเจนและวัดได้ แทนที่จะตั้งเป้าว่า "จะออมเงิน" คุณควรตั้งเป้าว่า "จะออมเงินให้ได้ 20,000 บาท ก่อนสิ้นปีนี้" หรือแทนที่จะตั้งเป้าว่า "จะลดน้ำหนัก" คุณควรตั้งเป้าว่า "จะลดน้ำหนัก 10 กก. ภายใน 10 สัปดาห์" หลังจากตั้งเป้าหมายเสร็จแล้ว ต่อมาคุณต้องกำหนดว่าต้องทำอะไรบ้างถึงจะบรรลุเป้าหมาย แล้วต้องลงมือทำอะไรก่อนเป็นอันดับแรก
เลิกเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ
ผู้เขียนมองว่ารายการสิ่งที่ต้องทำ หรือ to do list เป็นสิ่งที่กวนใจ เพราะมันคือบรรดาสิ่งที่คุณต้องทำให้เสร็จโดยไม่มีแผนชัดเจนว่าต้องเสร็จเมื่อไหร่ งานทุกงานในลิสต์ดูสำคัญเท่ากันหมด ดังนั้นเวลาที่คุณมองรายการสิ่งที่ต้องทำ คุณอาจเลือกทำงานที่ง่าย, ทำเสร็จไว แต่ไม่ใช่งานที่สำคัญที่สุด
นอกจากนี้การเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำไว้ยาวเหยียด จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนถูกกวนใจอยู่ตลอดเวลา เพราะคุณรู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างรอให้คุณไปจัดการ คุณจึงรู้สึกเหนื่อยมาก พอตกเย็นมาก็รู้สึกหมดแรง พอถึงเวลาเข้านอนก็นอนไม่หลับ เพราะมัวแต่คิดถึงเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ร่างกายของคุณก็จะทรุดโทรมลงเพราะความเครียด
คนที่ประสบความสำเร็จไม่เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ แต่พวกเขาจัดวางตารางชีวิตลงในปฏิทินอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ถ้าคุณอยากทำสิ่งนั้นให้เสร็จ จงกำหนดเวลาให้มัน อย่าเพียงแค่เขียนมันเรียงกันไว้เฉย ๆ และต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ในปฏิทินเหมือนการนัดพบแพทย์ คนส่วนใหญ่ล้มเลิกง่ายเกินไป แต่หากลองคิดว่าการเขียนรายงานประชุมให้เสร็จคือการนัดพบหมอฟัน คุณคงรู้สึกไม่อยากยกเลิกนัด และอยากไปให้ตรงเวลา
วิธีกำจัดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
ในงานวิจัยของ ดร. โจเซฟ เฟอร์รารี บอกเอาไว้ว่า คนเรากว่า 20% ผัดวันประกันพรุ่งจนติดเป็นนิสัย ซึ่งจำนวน 20% นี้มากกว่าตัวเลขเปอร์เซนต์ของผู้ป่วยซึมเศร้าเสียอีก สาเหตุที่คนเราผัดวันประกันพรุ่งเป็นเพราะไม่มีแรงจูงใจที่เพียงพอ หรือไม่มีอารมณ์จะทำสิ่งนั้น ผู้เขียนได้ให้วิธีกำจัดนิสัยผัดวันประกันพรุ่งไว้ว่า
1. จินตนาการถึงความสุขหรือความเจ็บปวด
หากคุณเกิดไม่อยากออกกำลังกายขึ้นมา ให้ลองจินตนาการถึงความสุขที่คุณจะได้รับหลังจากไปออกกำลังกาย คุณจะดูดี, คุณจะมีกล้ามที่ชัดเจน, คุณจะมีกำลังวังชา หรืออีกแง่ให้จินตนาการถึงความเจ็บปวดที่จะได้รับหากคุณไม่ไปออกกำลังกาย คุณจะมีพุงย้อย, คุณจะเอาแต่นอนอยู่บนโซฟาอย่างไร้เรี่ยวแรง ผู้เขียนบอกว่าการจินตนาการถึงความสุขหรือความเจ็บปวดเป็นแรงกระตุ้นให้เขาลุกไปทำสิ่งที่ต้องทำ
2. หาเพื่อนร่วมทำกิจกรรม
คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ มักออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่น คุณอาจจะออกไปวิ่งกับเพื่อนแถวบ้าน หรือจ้างเทรนเนอร์มาช่วยสอนออกกำลังกาย วิธีนี้ใช้กับกิจกรรมอื่นได้ คุณแค่หาเพื่อนที่ดีที่จะร่วมทำกิจกรรมอะไรสักอย่างกับคุณอย่างสม่ำเสมอ เหตุผลที่วิธีนี้มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อคุณผัดวันประกันพรุ่ง คุณไม่ได้รู้สึกผิดแค่กับตัวเอง แต่รู้สึกผิดที่ผิดนัดกับเพื่อนคนนั้นอีกด้วย
3. กำหนดรางวัลหรือบทลงโทษ
วิธีนี้ให้คุณกำหนดรางวัลอะไรสักอย่างที่คุณจะมอบให้ตัวเอง หากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จ ตัวอย่างเช่น จะซื้อรองเท้าคู่ใหม่หนึ่งคู่ เมื่อจ่ายหนี้บัตรเครดิตทุกใบหมดแล้ว หรือคุณจะใช้วิธีกำหนดบทลงโทษให้ตัวเอง หากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่สำเร็จก็ได้เช่นกัน
4. เอาแค่ดีพอ ไม่ต้องถึงกับสมบูรณ์แบบ
บางครั้งสิ่งที่คุณอยากทำอาจจะเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ยังผัดวันประกันพรุ่ง เช่น คุณวิ่ง 5 กม. ทุกวัน แต่วันนี้รู้สึกว่าวิ่ง 5 กม. ไม่ไหว ให้กำหนดระยะทางใหม่ เอาแค่รู้สึกว่าพอดี อาจจะแค่ 2 กม. ก็พอสำหรับวันนี้ แล้วหยิบรองเท้าออกไปวิ่ง ไม่แน่ว่าพอวิ่งครบ 2 กม. แล้ว คุณอาจอยากวิ่งให้ครบ 5 กม. เหมือนทุกวันก็เป็นได้
พอก็คือพอ
คนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ใช้เวลาไปกับการทำสิ่งที่อยู่ในรายการที่ต้องทำไปเรื่อย ๆ แต่พวกเขากำหนดเวลาให้สิ่งเหล่านั้น เมื่อหมดเวลาจะคิดว่าพอก็คือพอ เพราะชีวิตคนเรามีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ
เมื่อสิ้นสุดวันด้วยความรู้สึกเหนื่อยก็ต้องกลับบ้านไปพักผ่อน กินอาหารเย็นร่วมกับครอบครัว ซึ่งมีงานวิจัยบอกว่าคนที่เลิกงานในเวลาที่แน่นอน มีความเครียดในตอนกลางคืนน้อยกว่าคนที่เลิกงานไม่เป็นเวลา
พกสมุดบันทึก
เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้ง Virgin Group ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทในเครือกว่า 400 บริษัท มีทรัพย์สินมูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์ วันหนึ่งมีคนถามเขาว่ามีอะไรที่เขาพกติดตัวไปทุกที่ไหม เซอร์ริชาร์ดตอบว่าเขาพกสมุดเล่มเล็ก ๆ ไว้ในกระเป๋าด้านหลังกางเกง เขาบอกว่า "ถ้าคุณคิดอะไรออกแล้วไม่จดเอาไว้ เช้าวันต่อมามันอาจหายไปตลอดกาลเลยก็ได้"
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและยูซีแอลเอพบว่า การจดบันทึกด้วยมือทำให้เราฟังอย่างตั้งใจ, การรับรู้ดีขึ้น และจดจำข้อมูลเพื่อจะเอามาเขียนบันทึก มีการคิดและประมวลผลข้อมูลก่อนจด ส่วนคนที่จดบันทึกลงคอมพิวเตอร์ มักจะพิมพ์คำที่ได้ยินลงไปแบบเป๊ะ ๆ โดยไม่ผ่านการคิดและประมวลผลข้อมูลก่อน
วิธีลดเวลาประชุมให้สั้นลง
คนที่ประสบความสำเร็จรู้ว่าการประชุมที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากการแจ้งกำหนดการให้ทุกคนทราบล่วงหน้า ในนั้นต้องระบุจุดมุ่งหมายของการประชุมให้ชัดเจน, ระบุว่าใครเป็นผู้นำการประชุม, ยิ่งคนประชุมน้อยยิ่งดี บริษัท Google พยายามจำกัดคนเข้าร่วมประชุมให้ไม่เกิน 10 คน, ส่วนหัวข้อการประชุมให้เขียนเป็นประโยคคำถาม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโฟกัสความสนใจไปที่การตัดสินใจ, ระบุเวลาโดยประมาณของการประชุม เพื่อให้สามารถตรวจสอบความคืบหน้าของการประชุมได้
ในปี 1999 นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการวิจัยความแตกต่างระหว่างการนั่งประชุมและยืนประชุมในกลุ่มตัวอย่าง 56 กลุ่ม ผลปรากฎว่าการนั่งประชุมใช้เวลานานกว่ายืนประชุมถึง 34% และประสิทธิภาพของการนั่งประชุมไม่ได้ดีกว่าการยืนประชุม นอกจากนี้อีกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันบอกว่า การยืนประชุมก่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีกว่า ผู้เข้าร่วมหวงความคิดน้อยกว่า และเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหามากกว่าการนั่งประชุม
ที่เฟซบุ๊กมีกฏงดประชุมในวันพุธ และเรียกวันนั้นว่าเป็นวันแห่งการทำงาน แนวคิดคือทุกคนจะปล่อยให้คนอื่น ๆ อยู่ตามลำพังเพื่อให้มีสมาธิสำหรับจดจ่อในการทำสิ่งต่าง ๆ คุณไม่จำเป็นต้องเลือกงดประชุมในวันพุธแบบเฟซบุ๊กก็ได้ ให้เลือกวันงดประชุม 1 วันในสัปดาห์ที่เหมาะสมกับทีมของคุณได้เลยครับ
เวิร์น ฮาร์นิช ผู้เขียนหนังสือ Scaling Up ได้บอกเอาไว้ว่า องค์กรจะเดินไปข้างหน้าได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับผู้นำ ซึ่งการจะเป็นผู้นำที่ดีได้ คุณจำเป็นต้องสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทุกคนในบริษัททำงานได้อย่างสอดคล้องกัน และสิ่งที่ช่วยสร้างการสื่อสารระหว่างกันคือการรวมตัวประจำวันกันทุกเช้า
การรวมตัวประจำวันคือการที่คุณกับสมาชิกในทีมยืนล้อมวงกัน แล้วพูดคุยถึงเรื่องสำคัญใน 24 ชม.ที่ผ่านมา หรือทบทวนตัวเลขยอดขาย, การผลิตสินค้า หรือรายงานเรื่องติดขัดที่ต้องแก้ไข จำกัดเวลารวมตัวกันไว้ไม่เกิน 15 นาที และกำหนดให้รวมตัวกันเวลาเดิมทุกวัน วิธีนี้ช่วยลดความจำเป็นในการประชุมแบบลากยาว และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานได้อีกด้วย
กล้าปฏิเสธ
เรามีเวลาจำกัดแค่วันละ 1,440 นาทีเท่านั้น การที่เราเลือกทำบางอย่าง หมายความว่าจะมีอย่างอื่นที่ทำไม่เสร็จ และเทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้คนอื่นขออะไรจากเราได้ง่ายขึ้น อย่างการชวนไปสังสรรค์ หรือนัดกินข้าวในวันหยุด ทุกครั้งที่คุณตอบตกลงเรื่องอะไรสักอย่าง เท่ากับว่าคุณปฏิเสธเรื่องอื่น ๆ ถ้าคุณตอบรับทุกคำขอของคนอื่น คุณก็จะไม่ได้ทำสิ่งที่สำคัญสำหรับคุณจริง ๆ
บางครั้งการปฏิเสธก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเรากลัวว่าจะทำให้คนอื่นโกรธ, กลัวจะไปทำร้ายความรู้สึกคนอื่น, รู้สึกว่าการปฏิเสธเป็นเรื่องเสียมารยาท สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกผิดเมื่อต้องปฏิเสธ แต่หากคุณไตร่ตรองแล้วว่ามีอย่างอื่นสำคัญกว่าการต้องทำสิ่งที่คนอื่นขอ และรู้สึกว่าการพูดว่า "ไม่" ออกไปคำเดียวมันช่างยากเย็นสำหรับคุณเหลือเกิน ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ครับ
เทคนิคแรกให้อ้างว่าคุณมีงานที่กำลังใกล้ถึงเส้นตาย หรือ deadline คำว่าเส้นตายมีเวทมนตร์อยู่ในตัวของมันเอง คนส่วนใหญ่มักจะไม่ถามอะไรต่อ และถอดใจไปเองเมื่อได้ยินคำนี้
เทคนิคที่สองให้กุว่าระหว่างวันคุณยุ่งมาก กว่าจะว่างก็ตอนตี 2 - ตี 3 คนที่ได้ยินแบบนี้มักไม่ค่อยยอมถ่างตารอคุยกับคุณในเวลาดึกขนาดนั้น แต่หากมีคนที่ตื้อมาก ๆ และยอมอดทนรอ คุณค่อยบอกเขาว่าคุณพอจะโยกย้ายเวลา และคุยกับเขาได้ในช่วงเวลาปกติ
อีกเทคนิคหนึ่งให้บอกคนที่มาขอคุยว่า ช่วยส่งข้อมูลคร่าว ๆ มาให้คุณทางอีเมลได้ไหม ว่าเขาต้องการคุยเรื่องอะไร และคาดหวังผลลัพธ์แบบไหน การทำแบบนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าคุณยุ่งมาก ดังนั้นถ้าอยากคุยด้วยเขาต้องเตรียมตัวมา ผู้เขียนบอกว่าเขาใช้วิธีนี้ และคนเหล่านั้นก็หายไป ไม่ส่งอะไรกลับมาเลย
จ้างคนมาทำแทน
ในเดือนมกราคม ปี 2013 มีหลายสำนักข่าวรายงานเรื่องราวที่ไม่ธรรมดาของบ๊อบ โปรแกรมเมอร์วัย 45 ปี ที่บริษัทของเขาขนานนามให้ว่าเป็น"โปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในตึก" ชื่นชมว่าเขาปฏิบัติงานได้อย่างดีเลิศ และให้พนักงานคนอื่นเอาเขาเป็นแบบอย่าง
บ๊อบตอกบัตรเข้าทำงานในแต่ละวันตอน 9 โมงเช้า และส่งสรุปผลงานรายวันให้เจ้านายก่อนที่เขาจะกลับบ้านตอน 5 โมงเย็น แต่หากคุณไปแอบดูว่าบ๊อบใช้เวลาแต่ละวันทำอะไรบ้าง คุณจะประหลาดใจ ในวันปกติบ็อบจะเข้าเว็บไซต์และดูยูทูบ ตั้งแต่ 9 โมง ไปจนถึง 11 โมงครึ่ง จากนั้นเขาจะออกไปพักกลางวัน 90 นาที เมื่อกลับเข้าออฟฟิศตอนบ่ายโมง บ็อบก็จะใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งไปกับเว็บช็อปปิ้ง, เฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ พอถึง 4 โมงครึ่ง เขาจะส่งรายงานให้เจ้านาย แล้วกลับบ้านโดยไม่ได้เขียนโปรแกรมแม้แต่บรรทัดเดียว วันรุ่งขึ้นก็จะเป็นแบบนี้เหมือนเดิม
แล้วอย่างนี้บ็อบกลายเป็นโปรแกรมเมอร์ดาวเด่นของบริษัทได้ยังไง ทั้งที่เอาแต่ขี้เกียจไปวัน ๆ ปรากฎว่าบ็อบเป็นคนฉลาดมาก เขาจ้างบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในเมืองเสิ่นหยางประเทศจีนให้ทำงานแทนเขา บริษัทของบ๊อบให้ค่าจ้างเขาปีละประมาณ 200,000 ดอลลาร์ เขาจ่ายค่าจ้างโปรแกรมเมอร์ในจีนปีละ 50,000 ดอลลาร์
บ๊อบทำแบบนี้อยู่นาน จนในที่สุดบริษัทของเขาก็สังเกตเห็นการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ที่ผิดปกติจากจีน แผนการอันหลักแหลมของบ็อบความแตกจนได้ บริษัทไล่บ็อบออก แต่ผู้เขียนบอกว่าถ้าเขาเป็นประธานของบริษัทนั้น เขาจะให้เงินเดือนบ็อบเพิ่มเป็นสองเท่า และให้บ๊อบขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝ่าย เพราะการที่บ๊อบใช้วิธีจ้างคนนอกให้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้ ทำให้บริษัทประหยัดเงินได้หลายล้านดอลลาร์
คุณเอาวิธีของบ๊อบมาใช้ได้ คุณไม่จำเป็นต้องทำทุกงานทั้งหมดเอง ลองดูว่าอะไรที่คุณสามารถจ้างคนอื่นทำแทนได้ ผู้เขียนบอกว่าเขาจ้างคลาริสสาซึ่งเป็นคนสิงคโปร์ออกแบบปกหนังสือให้, จ้างบาลาจีที่เป็นคนอินเดียค้นคว้างานวิจัยและสรุปออกมาเป็นสไลด์นำเสนอให้, จ้างแมตต์และคริสดูแลเว็บไซต์ให้ นอกจากนี้เขายังจ้างคนมาตัดหญ้าในสนามที่บ้าน, จ้างบริษัทมาทำความสะอาดบ้านทุก 2 สัปดาห์ แล้วเอาเวลาที่ไม่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ ไปทำสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวของเขาเท่านั้น
ความลับข้อสุดท้าย "พลังงานคือทุกสิ่ง"
ผู้เขียนบอกว่าคุณบริหารเวลาไม่ได้หรอก เพราะยังไงพรุ่งนี้คุณก็มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเดิม เมื่อคนเราพูดถึงการบริหารเวลา สิ่งที่เราต้องการคือการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จมากขึ้น โดยที่เครียดน้อยลง เคล็ดลับคือคุณต้องทำให้ตัวเองมีพลังงานในระดับสูงสุด
โทนี ชวาร์ตซ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านสุขภาพ The Energy Project ทำการวิจัยและพบว่า โดยธรรมชาติแล้ว คนเราเปลี่ยนจากการมีสมาธิและมีพลังงานเต็มเปี่ยม ไปเป็นรู้สึกว่าร่างกายเหนื่อยล้าในทุก ๆ 90 นาที ถึงตอนนั้นร่างกายจะส่งสัญญาณให้เราพักและฟื้นฟูพลังงาน แต่หากคุณฝืนมันด้วยการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ร่างกายก็จะใช้พลังงานสำรองจนหมดเกลี้ยง ทำให้ไม่เหลือแรงสำหรับทำงานอื่นต่อ
คุณจำเป็นต้องพักเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ทุก 90 นาที ตลอดทั้งวัน เพื่อดื่มน้ำ, เดินยืดเส้นยืดสาย หรือกินอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ แนวคิดนี้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเทคนิคการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพชื่อว่า "เทคนิคโพโมโดโร" หลักการของมันคือ ให้คุณเพ่งสมาธิทำงานอย่างเต็มที่เป็นเวลา 25 นาที จากนั้นพัก 5 นาทีเพื่อลุกขึ้นยืน, เคลื่อนไหว หรือดื่มน้ำ จากนั้นหลังหมดเวลาพักก็กลับมาทำวงจรเดิมซ้ำ
นอกจากนี้ผู้เขียนได้แนะนำวิธีเพิ่มขีดจำกัดพลังงานของคุณให้สูงขึ้น วิธีที่ว่าคือ การ ดูแลสุขภาพ วิธีเหล่านี้พวกเรารู้กันอยู่แล้ว แต่มาเน้นย้ำกันอีกครั้งครับ
- นอนหลับให้เพียงพอ
- จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ให้น้อยที่สุด
- จำกัดปริมาณคาเฟอีนให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะในตอนท้าย ๆ ของวัน
- ทานอาหารสดให้มากขึ้น ลดอาหารที่ผ่านกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมชาติ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ
- ดื่มน้ำเยอะๆ
- ออกกำลังกายทุกวัน จะออกเบา ๆ โดยการเดินเร็ว 20 นาทีก็ได้
ทั้งหมดนี้ผมสรุปมาจาก 15 เคล็ดลับที่มีในหนังสือซึ่งผู้เขียนรวบรวมมากจากคนที่ประสบความสำเร็จเกือบ 300 คน ผู้เขียนบอกว่าทั้ง 15 ข้ออาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน สิ่งสำคัญคือเมื่ออ่านแล้วให้ลองเอาไปปรับใช้กับสถานการณ์ของตัวเอง ใครสนใจอยากอ่านครบ ๆ สามารถหามาอ่านเพิ่มเติมได้ครับกับ "แค่ใช้เวลาเป็น ไม่ต้องเก่งก็ไปได้ไกลกว่า" เขียนโดย เควิน ครูส ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์บิงโก ราคา 245 บาท