ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน - ความลับ 10 ข้อ เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน - ความลับ 10 ข้อ เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

ในยุคดิจิตอลที่โลกทั้งใบเชื่อมถึงกัน การสร้างผลงานให้ออกมาโดดเด่นดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ดูจะซ้ำกับคนอื่นไปซะทุกอย่าง แต่ไอเดียไม่ซ้ำใครเลยนั้นไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากไอเดียที่มีอยู่แล้ว หัวใจของการสร้างสรรค์คือการเก็บเล็กผสมน้อยจากความคิดคนอื่น แล้วนำมาผสมผสานกับความคิดของคุณเพื่อสร้างเป็นผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของคุณ

ไอติมอ่าน ep นี้จะมาแนะนำเนื้อหาในหนังสือ "ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน" เขียนโดย ออสติน คลีออน เล่มนี้พูดถึงความลับ 10 ข้อที่ช่วยให้คุณสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ โดยเรื่องราวที่ผู้เขียนนำมาแบ่งปันในหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มาตลอดสิบปีที่พยายามหาวิธีสร้างงานศิลปะ ใครที่กำลังพยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในชีวิตและการทำงาน สามารถนำไอเดียเหล่านี้ไปใช้ได้ครับ


1. ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน

ศิลปินที่ดีล้วนเข้าใจว่าทุกสิ่งมีที่มาเสมอ งานที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ทุกชิ้น ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เคยมีมาก่อนแล้ว ไม่มีอะไรแปลกใหม่อย่างแท้จริง แม้กระทั่งคัมภีร์ไบเบิลยังเขียนไว้ว่า "ไม่มีสิ่งใดใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์" เราควรเลิกหมกมุ่นกับการพยายามสร้างสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่มีใครเหมือน เลิกดิ้นรนสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาจากศูนย์ แต่ควรเปิดรับแรงบันดาลใจที่มีอยู่รอบตัว

ไอเดียใหม่ทุกอย่างเกิดจากการนำไอเดียเก่า ๆ มาผสมผสานขึ้นมาใหม่ แบบเดียวกับเรื่องของพันธุกรรม ที่คุณได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมมาจากพ่อแม่ ตัวคุณมีลักษณะหลากหลายกว่าท่านทั้งสอง เพราะคุณคือส่วนผสมของพ่อแม่และบรรพบุรุษทั้งหมดของคุณ

นอกจากนี้ความคิดของคุณยังสืบทอดมาจากหลาย ๆ แหล่ง ทั้งจากคุณครู, เพื่อน, เพลงที่ฟัง, หนังสือที่อ่าน และหนังที่ดู คุณคือส่วนผสมของสิ่งต่าง ๆ ที่คุณปล่อยให้ผ่านเข้ามาในชีวิต เกอเธ่ นักปรัชญาชาวเยอรมันกล่าวไว้ว่า "ตัวตนของเราได้รับการขัดเกลาและสร้างสรรค์ขึ้นจากสิ่งที่เรารัก"

ศิลปินคือนักสะสม เขาจะสะสมสิ่งที่เลือกสรรมาอย่างดี ไม่ใช่เก็บทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่คัดเฉพาะสิ่งที่พวกเขารักจริง ๆ เท่านั้น จิม โรห์น เคยกล่าวทฤษฎีที่ว่า "เราคือค่าเฉลี่ยของคน 5 คน ที่เราใช้เวลาด้วยมากที่สุด" คุณจะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อมตัวคุณ หน้าที่ของคุณคือการสะสมไอเดียดี ๆ ยิ่งคุณมีไอเดียดี ๆ มากเท่าไหร่ คุณยิ่งมีตัวเลือกในการหยิบจับขึ้นมาใช้งานมากขึ้นเท่านั้น

หน้าที่อีกอย่างของคุณคือการให้การศึกษาแก่ตัวเอง ไม่ใช่แค่การเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น แต่คุณต้องกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวอยู่ตลอด ค้นหาคำตอบและที่มาที่ไปของสิ่งที่อยากรู้ เจาะลึกเรื่องต่าง ๆ ให้มากกว่าใคร นี่คือวิธีที่จะทำให้คุณนำหน้าคนอื่นได้ อย่าเพิ่งเอ่ยปากถามคำถามกับใคร ถ้าคุณยังไม่ได้ลองหาคำตอบนั้นด้วยตัวเอง ลองค้นหาด้วยกูเกิ้ลดูก่อน คุณอาจพบคำตอบด้วยตัวคุณเอง หรืออาจเจอคำถามใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิมก็ได้

ผู้เขียนแนะนำให้พกสมุดจดกับปากกาติดตัวอยู่เสมอ ฝึกจดความคิดและสิ่งที่คุณสังเกตเห็นลงในสมุดให้เป็นนิสัย คัดลอกประโยคจากหนังสือที่คุณชอบลงสมุด จดบทสนทนาที่คุณได้ยิน ทำสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นแฟ้มหัวขโมยของคุณ มันคือแฟ้มสำหรับเก็บสิ่งต่าง ๆ ที่คุณขโมยมาจากคนอื่น จะเป็นแฟ้มเอกสารจริง ๆ หรือเป็นโฟลเดอร์ในคอมพิวเตอร์ก็ได้ เมื่อเห็นอะไรที่น่าขโมย ให้รีบคว้ามาเก็บไว้ในแฟ้มหัวขโมยทันที เมื่อไหร่ที่คุณต้องการไอเดีย ก็เพียงแค่เปิดแฟ้มนี้ขึ้นมาดู


2. อย่ามัวแต่รอจนกว่าจะค้นพบตัวตนแล้วจึงเริ่มลงมือ

ผู้เขียนบอกว่าถ้าเขารอจนกว่าจะค้นพบตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองทำได้แล้วค่อยลงมือทำ ป่านนี้เขาคงยังค้นหาตัวเองอยู่โดยไม่ได้ทำอะไร เราจะค้นพบตัวตนของเราก็ต่อเมื่อเราเริ่มลงมือทำและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมานี่แหละ

แม้ตอนนี้คุณจะยังทำไม่ได้ แต่ให้สมมุติว่าทำได้ไปก่อน ดังประโยคภาษาอังกฤษที่ว่า Fake it Until You Make It ซึ่งสื่อว่าให้คุณแสร้างทำอะไรบางอย่างไปเรื่อย ๆ จนกว่าคุณจะทำขึ้นมาได้จริง ๆ

ไม่มีใครเกิดมาแล้วมีสไตล์เฉพาะตัวในทันที เราไม่ได้รู้จักตัวตนของตัวเองตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องแม่ ในช่วงเริ่มต้นเราต้องเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบไอดอลในดวงใจของเรา ให้เลียนแบบไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายเราจะพบตัวตนของตัวเอง

วงเดอะบีตเทิลส์ก็เคยเล่นเพลงของคนอื่นมาแล้ว ซัลวาดอร์ ดาลี จิตรกรชาวสเปนเคยกล่าวไว้ว่า "คนที่ไม่ยอมเลียนแบบจะไม่มีวันสร้างสรรค์อะไรได้เลย" คุณอาจเริ่มจากการเป็นตัวปลอม แต่จะลงเอยด้วยการกลายเป็นตัวจริง

ให้คุณเลียนแบบจากไอดอลที่คุณชอบหลาย ๆ คน อย่าเลียนแบบแค่คนเดียว ไม่อย่างนั้นคนอื่นจะมองว่าคุณคือร่างทรงของคน ๆ นั้น แต่ถ้าคุณเลียนแบบและขโมยความคิดจากคนเป็นร้อย ๆ ทุกคนจะบอกว่าผลงานของคุณแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

เหตุผลที่คุณต้องเลียนแบบไอดอลของคุณและผลงานของพวกเขา ก็เพื่อเปิดโอกาสให้คุณได้มองเข้าไปในความคิดของพวกเขา การทำความเข้าใจการมองโลกของพวกเขานี่แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าคุณเลียนแบบแค่เปลือกนอก โดยไม่พยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไปเลย ผลงานที่คุณสร้างก็จะเป็นเพียงแค่ของก๊อปปี้

มนุษย์เราไม่สามารถเลียนแบบให้เหมือนต้นฉบับได้ 100% ความล้มเหลวในการเลียนแบบไอดอลนี่เองคือจุดที่เราจะค้นพบตัวตนของเรา มันคือวิธีที่จะช่วยให้เราเติบโต ดังนั้นลองเลียนแบบไอดอลของคุณดู พิจารณาดูว่าทำไมคุณถึงทำเหมือนเขาไม่ได้ คุณต่างจากเขาตรงไหนบ้าง จุดที่แตกต่างนี่แหละคือสิ่งที่คุณควรนำมาขยายให้ใหญ่ แล้วนำไปสร้างสรรค์เป็นผลงานของตัวเอง


3. เขียนหนังสือที่คุณอยากอ่าน

นักเขียนมือใหม่มักเกิดคำถามว่า "เราจะเขียนอะไรดี?" และคำตอบที่มักได้ยินคือ "เขียนเรื่องที่คุณรู้สิ" คำแนะนำนี้มักทำให้งานเขียนของคุณไม่ได้เรื่องและไม่มีอะไรน่าสนใจ

ผู้เขียนแนะนำว่า อย่าเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณรู้ แต่ให้เขียนสิ่งที่คุณชอบ เขียนเรื่องที่คุณโปรดปรานมากที่สุด เขียนหนังสือที่คุณอยากอ่าน วาดภาพที่คุณอยากเห็น เริ่มธุรกิจที่คุณอยากบริหาร เล่นดนตรีที่คุณอยากฟัง สร้างสินค้าที่คุณอยากใช้ ลงมือทำทุกสิ่งที่คุณอยากให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้


4. ใช้มือของคุณ

คนที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะนั่งนิ่งแทบไม่เคลื่อนไหวเลย ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณแล้ว มันยังส่งผลเสียต่องานของคุณอีกด้วย คนเราจำเป็นต้องเคลื่อนไหว เราต้องรู้สึกว่ากำลังทำอะไรบางอย่างโดยใช้ร่างกายของเรา ไม่ใช่เพียงแค่หัวสมอง

คุณต้องหาวิธีที่จะทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวขณะสร้างสรรค์ผลงาน ระบบประสาทของเราไม่ใช่ถนนเลนเดียว นอกจากสมองจะสั่งร่างกายแล้ว ร่างกายยังสั่งสมองได้ด้วย สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์คือ ถ้าเราเริ่มขยับเคลื่อนไหว เริ่มดีดกีตาร์ เริ่มสลับสับเรียงโพสต์อิทที่เขียนไว้บนโต๊ะประชุม หรือเริ่มปั้นดินน้ำมัน การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะช่วยให้สมองของเราเริ่มทำงานและเกิดความคิด

คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ดีมากในการตัดต่อเรียบเรียงความคิดและจัดระเบียบไอเดียของคุณให้พร้อมสำหรับการเผยแพร่สู่โลกภายนอก แต่มันไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสำหรับสร้างสรรค์ไอเดีย ผู้เขียนบอกว่างานส่วนใหญ่ของเขามีต้นกำเนิดมาจากโต๊ะที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากปากกา ดินสอ กระดาษ และหนังสือพิมพ์

เขาขีด ๆ เขียน ๆ ลงกระดาษ ตัดมันเป็นชิ้น ๆ แล้วประกอบเข้าด้วยกันใหม่ แปะโน่นแปะนี่ไว้บนผนัง แล้วพยายามมองหาความเชื่อมโยง เมื่อไอเดียเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เขาค่อยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเรียบเรียงและเผยแพร่ผลงาน


5. งานคั่นเวลาและงานอดิเรกเป็นสิ่งสำคัญ

ผู้เขียนบอกว่าการทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันถือเป็นเรื่องดี เพราะคุณสามารถสลับไปทำงานนั้นงานนี้ได้ เมื่อคุณเริ่มเบื่องานตรงหน้าก็หันไปทำงานอีกอย่างที่รออยู่ และเมื่อคุณรู้สึกเบื่ออีก คุณก็ย้อนกลับไปทำงานแรกได้

ปล่อยให้ตัวเองเบื่อบ้าง คนที่ทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีเวลาที่จะนั่งเฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ไอเดียที่ยอดเยี่ยมที่สุดของผู้เขียนผุดขึ้นมาตอนกำลังเบื่ออยู่นี่แหละ เขาเลยไม่เคยส่งเสื้อไปร้านซักรีด แต่ชอบรีดเสื้อด้วยตัวเอง ถ้าไอเดียของคุณเริ่มตัน ลองล้างจาน ออกไปเดินเตร็ดเตร่ คุณไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะพาคุณไปพบกับอะไร

การมีงานอดิเรกก็เป็นเรื่องสำคัญมาก งานอดิเรกคืองานสร้างสรรค์อะไรก็ได้ที่คุณทำแค่เพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพราะอยากได้เงินหรือชื่อเสียง แต่ทำเพราะมันคือความสุข งานอดิเรกเป็นสิ่งที่ให้ความสุขและไม่บั่นทอนพลังงานของคุณ


6. เคล็ดลับสร้างผลงานที่ดีและแบ่งปันให้คนอื่นได้เห็น

เมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน คุณจะรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่บนโลกไม่สนใจความคิดของคุณ ไม่ใช่คนอื่นเขาใจร้ายใจดำหรอกครับ แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่มีเวลาเท่านั้นเอง

อันที่จริงนี่เป็นเรื่องดี เพราะตอนที่ยังไม่มีใครรู้จักคุณคือช่วงเวลาที่คุณไร้แรงกดดัน จะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องคอยกังวลกับภาพลักษณ์ของตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่คนเริ่มหันมาสนใจคุณ คุณจะไม่มีอิสรภาพแบบนั้นอีกต่อไป โดยเฉพาะตอนที่พวกเขาเริ่มจ่ายเงินให้กับคุณ

ผู้เขียนแบ่งปันเคล็ดที่ไม่ลับในการกลายมาเป็นคนมีชื่อเสียง โดยเริ่มต้นจากสร้างผลงานที่ดีออกมา ผ่านการฝึกจนเก่งขึ้นในที่สุด จากนั้นแบ่งปันให้คนอื่นได้ดู ซึ่งปัจจุบันทำได้ง่ายมา คือการแชร์งานของคุณลงอินเตอร์เน็ต

เคล็ดลับในการทำให้คุณกลายเป็นคนน่าสนใจ คือการเปิดเผยความลับออกไปบ้าง โดยไม่จำต้องบอกทุกอย่างที่คุณทำ แค่แง้ม ๆ ให้เห็นบางส่วนก็พอ จะเป็นการโพสต์ภาพสเก็ตช์ ภาพวาดเล่น ๆ หรือข้อมูลอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ได้


7. ระยะทางไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในเมืองออสติน รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองที่ทันสมัยเอามาก ๆ มีศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์อยู่เต็มไปหมด แต่เพื่อนของเขากว่า 90% กระจัดกระจายอยู่ทุกที่ โดยเชื่อมโยงกันผ่านอินเตอร์เน็ต

คุณไม่จำเป็นต้องย้ายบ้านไปไหนก็สามารถผูกสัมพันธ์กับโลกที่คุณอยากจะอยู่ได้ หรือถ้ายังไม่มีโลกแบบนั้น คุณก็สร้างขึ้นมาเองเลยบนโลกออนไลน์

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณควรจะออกจากบ้าน สมองของคุณจะทำตัวสบายเกินไปถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่คุ้นชินอยู่ทุกวัน คุณต้องกระตุ้นให้มันตื่นตัว คุณจำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ลองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ทำอะไรไม่เหมือนคุณ การเดินทางทำให้โลกใบเดิมดูใหม่ขึ้น เมื่อโลกดูแปลกใหม่ขึ้น สมองของคุณก็จะทำงานมากขึ้น

การคบหาสมาคมกับคนที่น่าสนใจก็ช่วยได้มากทีเดียว และไม่จำเป็นต้องคบคนที่ทำงานประเภทเดียวกันเท่านั้น ผู้เขียนบอกว่าเขารู้สึกว่าสังคมของเขาคับแคบถ้าสุงสิงอยู่แต่กับพวกนักเขียนและศิลปิน เขาสนุกกับการคบหาคนทำหนัง นักดนตรี และโปรแกรมเมอร์ที่อาศัยอยู่ในเมืองออสติน


8. ทำตัวดี ๆ (เพราะโลกใบนี้มันเล็กนิดเดียว)

โลกยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด ถ้าคุณแอบนินทาใครบนอินเตอร์เน็ต ในไม่ช้าเจ้าตัวจะรู้ วิธีในการไม่สร้างศัตรูคืออย่าไปสนใจพวกเขา ส่วนวิธีที่ดีที่สุดที่จะผูกมิตรทางอินเตอร์เน็ตคือการพูดถึงพวกเขาในแง่ดี

คุณจะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคนที่คุณคบหา บนโลกออนไลน์คุณควรติดตามความเคลื่อนไหวของคนเก่งและคนที่ฉลาดมากกว่าคุณ ตั้งใจฟังสิ่งที่พวกเขาพูด สนใจสิ่งที่พวกเขาทำ

ชีวิตคือความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา หลายครั้งเราถูกรุมเร้าไปด้วยความท้อแท้สิ้นหวังและการถูกปฏิเสธ และเมื่อมีคนชื่นชมผลงานของเรา มันช่วยสร้างกำลังใจให้กับเราได้อย่างมหาศาล มันทำให้หัวใจของเราพองโต มีความสุขเต็มเปี่ยม แต่ความสุขนั้นจะจางหายไปในเวลาไปนาน

ผู้เขียนรู้แบบนั้นจึงเก็บอีเมลชื่นชมที่คนอื่นส่งมาให้ไว้ในแฟ้มพิเศษ ส่วนอีเมลที่หยาบคายจะลบทิ้งทันที เมื่อไหร่ที่เขารู้สึกหดหู่และต้องการกำลังใจ เขาจะเปิดแฟ้มดังกล่าวแล้วไล่อ่านอีเมลสัก 2-3 ฉบับ จากนั้นหันหน้ากลับไปทำงานต่อ แต่อย่าใช้วิธีนี้บ่อยนะครับ อย่างหลงระเริงไปกับคำชม ให้เก็บวิธีนี้ไปใช้ในเวลาที่คุณต้องการกำลังใจจริง ๆ เท่านั้น


9. ใช้ชีวิตแบบน่าเบื่อ (เพราะมันเป็นวิธีเดียวที่คุณจะทำงานเสร็จ)

ภาพลักษณ์ของศิลปินในสายตาคนทั่วไปคือ พวกเขาต้องเล่นยา ออกเที่ยวเล่นไปทั่ว แต่การใช้ความคิดทำงานสร้างสรรค์นั้นต้องใช้พลังงานอย่างมาก คุณจึงไม่ควรเอาพลังไปผลาญทิ้งกับเรื่องไร้สาระแบบนั้น ให้คิดว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ไปอีกนาน กินอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

คนส่วนใหญ่ไม่อยากคิดถึงเรื่องบริหารเงินเพราะมันน่าปวดหัว แต่มันจะดีสำหรับคุณถ้าเรียนรู้เรื่องการบริหารเงินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีคำกล่าวว่า "หาเงินได้เท่าไหร่ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่คุณเก็บเงินได้มากแค่ไหน" ให้ตั้งงบประมาณไว้สำหรับการใช้จ่าย และใช้ชีวิตไม่ให้เกินเงินที่หามาได้ ออมเงินให้ได้มากที่สุด ไม่ซื้อกาแฟแก้วละเป็นร้อย ไม่ซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ทั้งที่เครื่องเก่ายังใช้งานได้ดีอยู่

การจะทำเงินจากสิ่งที่คุณรักได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะไปถึงจุดนั้น ระหว่างนี้คุณจึงต้องทำงานประจำ งานประจำช่วยให้คุณมีเงิน มีสังคม และมีกิจวัตรประจำวัน เมื่อคุณไม่ต้องเครียดเรื่องเงิน คุณก็จะมีอิสระในการสร้างสรรค์งานด้วย

งานประจำทำให้คุณมีโอกาสเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับมนุษย์เดินดินคนอื่น ๆ จงเรียนรู้จากพวกเขา ขโมยความคิดของพวกเขา ข้อเสียของงานประจำคือทำให้คุณมีเวลาน้อยลง แต่สิ่งที่เข้ามาทดแทนคือการมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน ซึ่งช่วยให้คุณสามารถจัดเวลาที่แน่ชัดไว้สำหรับทำงานสร้างสรรค์ของคุณได้ การจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด สำคัญยิ่งกว่าการมีเวลาว่างเหลือเฟือ เพราะยิ่งคุณว่าง คุณก็จะยิ่งเฉยชา

เคล็ดลับคือ หางานประจำที่รายได้ดี งานไม่น่าเบื่อจนเกินไป และหลังจากเลิกงานแล้วคุณยังมีเวลาและพลังงานเหลือพอที่จะสร้างสรรค์งานของตัวเอง งานประจำที่ดีอาจหาไม่ง่ายนัก แต่มันมีอยู่แน่ ๆ ครับ


10. ความคิดสร้างสรรค์คือการตัดทอน

โลกทุกวันนี้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ล้นทะลัก คนที่จะก้าวนำหน้าคนอื่นได้คือคนที่มองออกว่าจะตัดทอนอะไรออกไปได้บ้าง แล้วหันมาจดจ่อกับสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับพวกเขาจริง ๆ

เวลาคิดอะไรไม่ออกให้สร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง อาจฟังดูขัด ๆ แต่สำหรับงานสร้างสรรค์ ข้อจำกัดคืออิสรภาพดี ๆ นี่เอง เช่น เขียนเพลงให้ได้หนึ่งเพลงในช่วงพักเที่ยง วาดภาพให้ได้หนึ่งภาพโดยใช้สีเพียงสีเดียว ถ่ายทำหนังโดยใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือ อย่าเอาข้อจำกัดมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ลงมือทำงาน จงลงมือสร้างสรรค์ผลงานด้วยเวลาและวัตถุดิบเท่าที่มีอยู่ซะตั้งแต่ตอนนี้เลย


ฟังเนื้อหาทั้ง 10 ข้อแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี ผู้เขียนได้ลิสต์สิ่งที่คุณสามารถเริ่มทำได้เลยมาให้ดังนี้

  • ออกไปเดินเล่น
  • ทำแฟ้มหัวขโมย
  • ไปห้องสมุด
  • ซื้อสมุดจดไอเดีย
  • เขียนบล็อก
  • งีบสักนิด

สุดท้ายผู้เขียนได้หมายเหตุเอาไว้ว่า คำแนะนำบางอย่างอาจส่งผลเสียกับคุณก็เป็นได้ ให้เลือกเอาเฉพาะคำแนะนำที่เหมาะสมกับคุณ แล้วทิ้งที่เหลือไป ไม่มีกฏเกณฑ์อะไรในการนำคำแนะนำไปใช้ ใครสนใจอ่านเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้  หนังสือชื่อ "ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน" เขียนโดย ออสติน คลีออน