All Systems Red: ฝ่าสัญญาณฉุกเฉิน - เมื่อบอตถูกแฮคให้หันมาทำร้ายมนุษย์ แล้วคราวนี้เทคโนโลยีจะยังไว้ใจได้อยู่ไหม

All Systems Red: ฝ่าสัญญาณฉุกเฉิน - เมื่อบอตถูกแฮคให้หันมาทำร้ายมนุษย์ แล้วคราวนี้เทคโนโลยีจะยังไว้ใจได้อยู่ไหม

คณะสำรวจกลุ่มหนึ่งซื้อทัวร์สำรวจดาวเคราะห์ที่คาดว่าน่าจะมีทรัพยากรอยู่ที่นั่น ทางบริษัทจะอำนวยความสะดวกในการสำรวจทุก ๆ ด้านให้ ทั้งเสบียง ที่พัก ยาน และ บอตรักษาความปลอดภัย หุ่นยนต์ที่ติดตามคณะสำรวจไปด้วยเพื่อดูแลความปลอดภัยแก่มนุษย์

คณะสำรวจกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่มาสำรวจทรัพยากรบนดาวเคราะห์นี้ พวกเขามีคณะเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ห่างออกไป แล้ววันหนึ่งคณะสำรวจกลุ่มนั้นก็ขาดการติดต่อไป คณะสำรวจกลุ่มตัวเอกจึงเดินทางเข้าไปตรวจสอบ และพบว่าบอตรักษาความปลอดภัยที่ควรจะปกป้องมนุษย์ กลับถูกฝ่ายไหนไม่รู้แฮคระบบให้หันมาทำร้ายมนุษย์ ดังนั้นตอนนี้คนในคณะสำรวจจึงยากที่จะเชื่อใจบอตตัวใด ๆ รวมทั้งบอตในกลุ่มของตัวเอง

All Systems Red: ฝ่าสัญญาณฉุกเฉิน นิยายไซไฟที่คว้ารางวัล Hugo และ Nebula Awards มาได้ภายในปีเดียวกัน เป็นผลงานเล่มแรกในหนังสือชุด บันทึกบอตสังหาร (The Murderbot Diaries) แต่งโดย Martha Wells แปลเป็นไทยโดย พลอย โจนส์ นักแปลที่ผมคุ้นชื่อด้านการแปลวรรณกรรมเยาวชน

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซอลท์ ที่เด่นด้านการออกหนังสือแนว non fiction เกี่ยวกับเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต พอมาแปลนิยายขายนับว่าทำได้ดี เลือกหนังสือต้นฉบับได้น่าสนใจ หนังสือเป็นเล่มเล็ก ๆ หยิบติดมือจากร้านหนังสือกลับบ้านได้ง่าย มีความหนา 168 หน้าเท่านั้น

นิยายเรื่องนี้เดินเรื่องโดยมี บอต ซึ่งไม่มีชื่อเป็นผู้บรรยายเหตุการณ์ทั้งหมด เปิดเรื่องมาไม่ปูที่มาที่ไปอะไรทั้งนั้น เดินเรื่องฉับ ๆ ไปข้างหน้าลูกเดียว คนอ่านต้องอ่านไปเรื่อย ๆ คอยปะติดปะต่อเอาเองว่าในเรื่องเซตติ้งเป็นแบบไหน พวกเขามาทำอะไร กำลังเผชิญกับอะไรอยู่ ซึ่งผมชอบนะ นิยายที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายทุกอย่างให้ละเอียด จนคนดูเห็นภาพตามได้แบบฉากต่อฉาก แต่เว้นที่ว่างให้คนอ่านได้ใส่จินตนาการของตัวเองลงไป

บอตตัวเอกมีคาแรกเตอร์ชัดเจนมาก เป็นบอตที่ประหม่าต่อหน้ามนุษย์ เข้าสังคมไม่เป็น ปั้นหน้าไม่ได้ ชอบอยู่คนเดียวแล้วเปิดซีรีส์ดูแบบยาว ๆ ท้ายเล่มเราได้เห็นก้าวใหม่ในชีวิตของบอตตัวนี้ น่าติดตามว่าบอตที่ตัดสินใจได้เอง มีอารมณ์ความรู้สึก มีสัญชาตญาณ จะเลือกทางเดินแบบไหนต่อ อะไรกำลังรอมันอยู่ในภายภาคหน้า โดยเล่มนี้ออกแปลไทยเล่มต่อแล้วชื่อว่า Artificial Condition: เผชิญภาวะเทียม ผมติดตามซื้อมาอ่านต่อแน่นอน