จิฮิโระ เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 10 ขวบ ครอบครัวของเธอกำลังย้ายบ้านมาอยู่ย่านชนบท ขณะกำลังขับรถไปยังบ้านหลังใหม่ พ่อของเธอก็พาหลงไปยังที่แห่งหนึ่ง ที่มีอุโมงค์ทอดลึกเข้าไป ครอบครัวนี้พากันเดินเข้าไปสำรวจ พบว่าข้างในเหมือนเป็นตลาด มีร้านหนึ่งวางอาหารน่าอร่อยมากมาย แต่ไม่เจอเจ้าของร้าน พ่อกับแม่ของจิฮิโระเลยขอกินก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินตอนเจ้าของร้านมา จิฮิโระไม่ยอมกินแล้วออกเดินสำรวจ
ตกค่ำ ร้านรวงในนี้เริ่มเปิดไป และจิฮิโระเห็นภูติผีปรากฎกาย เกิดกลัวจึงกลับไปหาพ่อแม่ พอมาถึงก็พบว่าพ่อแม่กลายเป็นหมูไปเสียแล้ว จิฮิโระจึงจะหนีกลับไปที่รถ แต่ทางที่ข้ามมากลายเป็นแม่น้ำใหญ่ไปเสียแล้ว และมีเรือขนวิญญาณเข้าฝั่งมา ตอนนี้ร่างของจิฮิโระเริ่มเลือนหาย มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ฮาคุ มาช่วยจิฮิโระไว้
ฮาคุบอกว่า หากไม่อยากหายไปหรือถูกสาปกลายเป็นสัตว์ ต้องไปหางานทำที่โรงอาบน้ำของแม่มดชื่อ ยูบะบะ แล้วการผจญภัยในมิติวิญญาณของจิฮิโระก็เริ่มต้นขึ้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รางวัลออสการ์ครั้งที่ 75 สาขาภาพยนตร์แอนนิเมชันยอดเยี่ยม คงไม่ต้องพูดให้มากกับความดีงามของอนิเมะเรื่องนี้ ผ่านมากว่า 20 ปี ดูกี่ทีเรื่องนี้ก็ยังสนุก ภาพสวยงามอลังการ ในบทความนี้ผมขอตีความอนิเมะเรื่องนี้ว่าสะท้อนระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมอย่างไร? บอกก่อนว่านี่คือข้อคิดเห็นของผมเท่านั้น ไม่ได้อ้างอิงทฤษฎีอะไร ผิดถูกขออภัยด้วยครับ
บัตรเครดิต ถ้าใช้ไม่เป็นก็จะถูกสาปให้กลายเป็นหมู
เหตุการณ์ที่พ่อกับแม่ของจิฮิโระไปกินอาหารของเทพแล้วถูกสาปให้กลายเป็นหมู ผมว่าสะท้อนถึงการใช้บัตรเครดิตนะ บัตรเครดิตถูกออกแบบมาให้เราสามารถใช้จ่ายแทนเงินสด แล้วค่อยจ่ายเมื่อถึงรอบบิล ข้อดีของมันคือทำให้เราไม่ต้องพกเงินสดให้ถูกเสี่ยงโดนขโมย ได้สะสมคะแนน ได้แคชแบ็ก
แต่บัตรเครดิตก็เหมือนดาบสองคม ถ้าใช้เกินกำลังที่ตัวเองจ่ายไหว พอบัตรตัดรอบบิลมาไม่มีเงินจ่ายก็ต้องจ่ายขั้นต่ำ ถึงตอนนี้แหละที่เงินไม่กี่บาทที่บัตรเครดิตออกให้เราก่อนจะกลายมาเป็นหนี้ก้อนโต ถ้าใครโดนครั้งแรกแล้วเข็ด เคลียร์หนี้ได้ก็ดีไป แต่ถ้าเป็นคนที่หลงในการใช้เงินอนาคตไปแล้ว สมัครกี่บัตรก็ใช้จนเต็มวงเงิน เหมือนพ่อแม่ของจิฮิโระที่ตะกละกินอาหารไม่รู้จักพอจนถูกสาปเป็นหมู เป็นสัตว์ที่ไร้ความสามารถ ในชีวิตจริงคนเราก็กลายเป็นหมูที่ทำอะไรไม่ได้เหมือน นั่นคือตอนที่ถูกสถาบันทางการเงินฟ้องจนล้มละลาย กลายเป็นคนที่ทำธุรกรรมอะไรไม่ได้
แรงงาน การค้าทาสในยุคใหม่
สมัยนี้ไม่มีที่ไหนในโลกมีทาสหลงเหลืออยู่แล้ว แต่จริง ๆ การใช้แรงงานในโรงงานหรือในบริษัทจะเรียกว่าทาสได้ไหมนะ ในเรื่องเจ้าของโรงอาบน้ำคือยูบะบะ ที่ใครจะมาทำงานด้วยต้องโดนยึดชื่อจริง ก็เหมือนพนักงานที่มาจากต่างที่ แต่สุดท้ายต้องใส่ยูนิฟอร์มดูไม่ต่างกัน เข้างานและออกงานเวลาเดียวกัน มีฉากหนึ่งที่มีทองคำหลุดออกมาจากเทพแห่งแม่น้ำ พนักงานโรงอาบน้ำเจอก็เลยจะเก็บไว้ แต่ยูบะบะบอกว่าทองนั่นคือสมบัติของโรงอาบน้ำ เหมือนพนักงานบริษัทที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์มหาศาลให้บริษัท ขณะที่บริษัทเจียดเงินเดือนเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้มาประทังชีวิต
ผีไร้หน้า ความรู้สึกไร้ตัวตนของคนยุคนี้
ผีไร้หน้าถือเป็นตัวละคร iconic ของเรื่องนี้เลย ไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นใคร ไม่มีใครรู้ว่ามันมาจากไหน มันมีอำนาจบันดาลสิ่งของที่คนอื่นอยากได้ เพื่อแลกการถูกยอมรับ การปรนนิบัติ ผมว่าเจ้าผีไร้หน้าเหมือนคนส่วนใหญ่ในสังคมนะ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกไร้ตัวตนของตัวเอง บางคนยอมทำทุกอย่างเพื่อเอาใจทุกคนที่อยู่รอบข้าง เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ ทำอย่างนี้คนที่เข้ามาหาก็เพื่อหวังประโยชน์ทั้งนั้น
ในตอนท้ายเจ้าผีไร้หน้าได้เดินทางไปกับจิฮิโระ และได้พบกับน้องสาวของยูบะบะ ซึ่งเธอคนนี้ต้องการให้ผีไร้หน้าอาศัยอยู่กับเธอและคอยช่วยงาน สุดท้ายผีไร้หน้าก็มีที่อยู่ มีคนที่ยอมรับตัวตน ไม่ต้องพยายามเป็นคนอื่น คนเราแค่มีคนเข้าใจและยอมรับ ขอแค่คนเดียวเราก็มีความสุขแล้ว
ยังไงคนเราก็หนีการทำงานไม่พ้น
ในโลกที่จิฮิโระหลุดเข้าไป ทุกคนต้องทำงาน ไม่อย่างนั้นจะถูกสาปให้กลายเป็นสัตว์ ในโลกความเป็นจริงเราทุกคนก็ต้องทำงานเหมือนกัน เป้าหมายของการทำงานของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางคนทำเพื่อสะสมเงินทอง บางคนมีภาระปากท้องที่บ้านต้องเลี้ยงดู บางคนทำงานเพื่อสนอง passion ของตัวเอง ไม่ว่าเหตุผลการทำงานของใครคืออะไร สุดท้ายทุกคนทำงานงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม ทุกอาชีพล้วนก่อประโยชน์ ทำให้สังคมของเราเดินหน้าและพัฒนาต่อไปได้